ข่าวเย็นประเด็นร้อน - สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย หลังหลายพื้นที่มีฝนตกลงมาต่อเนื่อง
สุโขทัยน่าห่วง ระดับน้ำเพิ่มสูงหลายพื้นที่
สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา น้ำจากแม่น้ำยมได้ทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำยมหลายจุด ในหลายพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัย ที่อยู่ใกล้แม่น้ำยม ถูกกระแสน้ำจากแม่น้ำยมไหลทะลักเข้ากัดเซาะ ทั้งผิวถนน พนังกั้นน้ำยม ขาดเสียหายไปหลายจุดใน 2 อำเภอ คือ อำเภอศรีสำโรง และอำเภอเมืองสุโขทัย หลายหน่วยงานต้องวิ่งวุ่นกันทั้งคืนเพื่อนำกระสอบทราบเข้าอุดรอยรั่ว แต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้น้ำจากแม่น้ำยมไหลกัดเซาะผิวถนนและคอสะพาน ข้ามแม่น้ำยมวังใหญ่ ได้รับความเสียหาย จนมวลน้ำไหลทะลักเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน หมู่ที่ 6 บ้านวังใหญ่ เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงสุโขทัย ต้องประกาศปิดเส้นทางการจราจรชั่วคราว ระหว่างหมู่ที่ 6 บ้านวังใหญ่ และหมู่ที่ 8 บ้านวังทอง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย รวมถึงพื้นที่หมู่ 5 ตำบลวัดเกาะ น้ำจากแม่น้ำยมได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้าน และผิวถนน สูง 30-50 เซนติเมตร
ส่วนที่ ตำบลปากแคว หมู่ที่ 1 บ้านวังหิน ที่ถูกน้ำท่วมรุนแรง เนื่องจากบริเวณนี้เป็นโค้งน้ำ ทำให้กระแสน้ำมีความเร็วและแรง กระแทกตลิ่งแม่น้ำยมช่วงนี้ขาด เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซมได้ รวมถึงที่วัดปากแคว น้ำจากแม่น้ำยมยังได้ไหลเข้าท่วมภายในบริเวณวัดสูง 50 เซนติเมตร และเริ่มมีน้ำเอ่อล้นผิวถนน สูง 20-30 เซนติเมตร
ล่าสุด สำนักงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สุโขทัย แจ้งเตือนด่วน น้ำในแม่น้ำยมมีระดับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำล้นสะพาน อำเภอศรีสำโรง และพนังกั้นน้ำบริเวณสะพานสิริปัญญารัตน์ หมู่ที่ 6 ตำบลวังใหญ่ ถูกน้ำกัดเซาะแล้วเกิดการแยกตัว ขอให้ประชาชนอำเภอศรีสำโรง เตรียมความพร้อมในการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย ติดตามข่าวสารราชการ และหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางน้ำไหลผ่าน
จับตามวลน้ำสุโขทัย เข้าน้ำยมสายเก่า จ.พิษณุโลก
ส่วนที่จังหวัดพิษณุโลก ต้องจับตามวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัย ที่ไหลเข้าแม่น้ำยมสายเก่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าคลองน้ำไหล หลังปริมาณน้ำช่วงผ่านอำเภอพรหมพิราม เข้าสู่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก วันนี้มีปริมาณสูงขึ้น เหลืออีกเล็กน้อยก็จะเอ่อล้นตลิ่ง
ในขณะที่เจ้าหน้าที่จากชลประทานพิษณุโลก ได้ทำการซ่อมแซมคันดินเสริมริมแม่น้ำยมสายเก่า ที่ทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งมีบางจุดเสียหายก็ให้กลับมาใช้งานได้ สามารถกันน้ำในแม่น้ำยมสายเก่าไม่ให้ทะลักข้ามถนนมาฝั่งอำเภอพรหมพิราม
ในขณะที่ลำน้ำยมสายเก่านี้จะไหลลงสู่คลองบางแก้ว และฝายบางแก้ว เพื่อทำการผันเข้าสู่ทุ่งบางระกำโมเดลที่ยังสามารถรับน้ำได้อีกเยอะตามแผนที่วางไว้ แต่ก็ยังน่ากังวลเพราะยังมีน้ำคงค้างอยู่ที่จังหวัดแพร่อีกจำนวนมาก ที่วันนี้จะไหลผ่านลงมาสู่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัยมากไปกว่านี้ ก็อาจจะมีการผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่าเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งตลอดลำน้ำได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวัง และรายงานปริมาณน้ำกันตลอด 24 ชั่วโมง
2 อำเภอน้ำยังท่วมสูง หลายหมู่บ้านยังไปมาหาสู่กันไม่ได้ จ.ตาก
ไปที่จังหวัดตาก สถานการณ์น้ำท่วมอำเภอสามเงา และอำเภอบ้านตาก ระดับน้ำยังท่วมสูง เนื่องจากยังมีมวลน้ำก้อนใหญ่จากจังหวัดลำปาง ไหลลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง และเป็นพื้นที่ติดต่อกันระหว่างอำเภอเถินกับอำเภอสามเงา เป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย ตำบลยกกระบัตร ตำบลวังจันทร์ ตำบลวังหมัน และตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำปิงที่อำเภอบ้านตาก และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้แม่น้ำวังเอ่อทะลักแนวคันดิน เข้าท่วมหมู่ที่ 7 ตำบลยกกระบัตร ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ชาวบ้านกว่า 140 หลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านต้องใช้เรือแทนรถในการสัญจรไปมา โรงเรียนอย่างน้อย 3 แห่ง ต้องหยุดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว จนกว่าน้ำจะลดเข้าสู่ภาวะปกติ และสั่งห้ามลูกหลานลงเล่นน้ำ เนื่องจากน้ำท่วมสูงเกรงว่าเด็กเล็กจะได้รับอันตราย เนื่องจากที่ผ่านมามีคนเสียชีวิตทุกปี
ส่วนที่ถนนสายวังหมัน-นาตาโพ ถูกน้ำท่วมถนนขาดกว่า 200 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องใช้ป้ายแจ้งเตือน นำมาติดตั้งไม่ให้รถสัญจรไปมา เกรงได้รับอันตราย ทั้ง 2 หมู่บ้านไม่สามารถติดต่อกันได้ จนกว่าน้ำจะลดลง และที่ถนนสายยางโอง-วังหวาย บนสะพานมีรอยแตกร้าวและเป็นโพรงลึก เนื่องจากถูกแรงน้ำกัดเซาะหักพังไปกว่าครึ่งสะพาน ส่วนการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมทางส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ พระภิกษุสงฆ์ ปภ. เขื่อนภูมิพล และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือนำอาหาร น้ำดื่ม ข้าวสารอาหารแห้ง ยารักษาโรค และตั้งโรงครัวสนามนำข้าวกล่องไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้นแล้ว
นายกฯ จ่อลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี
ขณะที่สถานการณ์น้ำที่จังหวัดอุบลราชธานี มวลน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านตัวจังหวัดแล้ว ด้านนายกฯ เศรษฐา จ่อลงพื้นที่ 6 ตุลาคมนี้
โดย นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. แถลงมติที่ประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สำนักชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีและลำน้ำมูล ในห้วงเวลาต่อจากนี้จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล จะมีฝนตกหนัก 35-90 มิลลิเมตร และจะพาดผ่านไปยังทางตอนล่างของแม่น้ำมูล ซึ่งจะทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้น
ขณะที่มวลน้ำซึ่งมีกำลังสูงสุดกำลังเคลื่อนตัวผ่านตัวเมืองอุบลราชธานี สังเกตได้จากระดับเริ่มคงที่ และมีแนวโน้มที่จะลดลง หรือ น่าจะคลี่คลายไปได้ เนื่องจากเขื่อนราษีไศล และเขื่อนฝายหัวนาหน่วงชะลอน้ำไว้ เป็นผลทำให้ปริมาณน้ำที่ผ่านตัวเมืองอุบลราชธานี ไม่เพิ่มปริมาณมากกว่านี้ สำหรับตัวเมืองอุบลราชธานี ปริมาณน้ำยังคงสูงกว่าตลิ่ง ในอำเภอวารินชำราบ 72 เซนติเมตร ขณะเดียวกัน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังมีระยะห่างจากตลิ่ง 12 เมตร จึงไม่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำผ่านตัวเมืองอุบลราชธานี ทั้งนี้ หากไม่มีน้ำมาเติม จะใช้เวลา 15 วัน จะเริ่มลดผลกระทบ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำต้องใช้เวลามากกว่านั้น สถานการณ์จึงจะทยอยกลับสู่สภาวะปกติ
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง เตรียมเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และหารือแก้ปัญหาผลกระทบประชาชน โดยเฉพาะการสัญจร และพืชผลการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย
กรมอุตุฯ เตือนฝนถล่ม 33 จังหวัด น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าหลาก
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฝนถล่มต่อเนื่อง ตกหนัก 33 จังหวัด กรุงเทพฯ โดนด้วย ขอให้ประชาชนระวังอันตราย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยมีอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35