ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Baby Blue อาการใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่มือใหม่ มีอัตตรา 75% ของคุณแม่ต้องพบเจอหลังคลอด ซึ่งคุณแม่หลายคนจะมีความรู้สึก เศร้า หดหู่ และทุกข์ใจ พัฒนามาเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ คุณแม่ควรเตรียมความพร้อมและรับมือทำความเข้าใจกับภาวะทางอารมณ์หลังคลอด แม้ว่าหลังคลอดคุณแม่หลายคนอาจตื่นเต้นที่จะได้พบเจอกับลูกน้อยที่ได้เฝ้ารอมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แต่หลังจากคลอดลูกแล้วมีคุณแม่อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบกับภาวะเบบี้บลู (Baby Blue) หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน
เบบี้บลู (Baby Blue) คืออะไร ?
เบบี้บลู (Baby Blue) คือ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่รวดเร็วในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยมาระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) ซึ่งส่วนหนึ่งสร้างจากรก จะลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากคลอดรก และในขณะเดียวกันร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) และฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนม การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระดับฮอร์โมนเหล่านี้ ส่งผลให้อารมณ์ของคุณแม่มีความเปลี่ยนแปลง
สาเหตุของ BABY BLUE
- เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกายระดับฮอร์โมน เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว
- ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย จากการดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชม.
- สภาพทางเศรษฐกิจ ของครอบครัว
- สัมพันธภาพ ความมั่นคงภายในครอบครัว
- สุขภาพของมารดา และทารก หลังคลอด
- ประสบการณ์ ความรู้เทคนิค ในการเลี้ยงดูทารก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ปัญหาการเงิน ตกงาน เลิกรากับสามี หรือเด็กคลอดออกมาแล้วไม่แข็งแรง เป็นต้น อาการของเบบี้บลูหรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สามารถแบ่งอาการตามการแสดงออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
อาการทางร่างกาย
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- เหนื่อยง่าย รู้สึกเซื่องซึม
- ไม่สดชื่น ไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็เชื่องช้า
- มีปัญหาในการนอนหลับ นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
- ไม่หิว เบื่ออาหาร หรือมีความอยากอาหารน้อยลง
อาการทางจิตเวช
- เครียด คิดมาก หรือคิดแต่เรื่องเดิมๆ ซ้ำ
- วิตกกังวล กลัวเลี้ยงลูกไม่ได้
- หดหู่ ซึมเศร้า บางครั้งก็อยากร้องไห้
- อารมณ์เสีย หงุดหงิด เหวี่ยงวีน หรืออารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ในบางครั้ง
- ไม่มีความสุขในการดูแลบุตร รู้สึกตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ
แนวทางการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (BABY BLUE)
การรักษา หรือฟื้นฟูภาวะซึมเศร้าหลังคลอดควรเริ่มจากวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้คุณแม่มีอาการ เพราะสาเหตุของแต่ละคนแตกต่างกัน ความรัก ความเข้าใจของคนในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะเป็นกำลังใจในการเลี้ยงดูลูกน้อย ในช่วงวัยทารกให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ คุณแม่บางท่านอาจจะมีภาวะซึมเศร้า จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ต้องดูแลลูกน้อยเพียงลำพังอย่างใกล้ชิด ควรมีผู้ช่วย อาจจะเป็นปู่ย่า ตายาย คุณพ่อ เข้ามาช่วยเลี้ยงดูสลับเปลี่ยนเวลาให้คุณแม่ได้พักผ่อน ความเหนื่อยล้าบรรเทาลง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็จะค่อยๆหายได้
หากคุณแม่คนไหนมีอาการ ตามที่กล่าวมา เกิน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการรุนแรง เช่น บางครั้งผุดภาพอยากทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูก ฉุนเฉียว หูแว่ว ประสาทหลอน มีเสียงสั่ง แนะนำว่าควรเข้าปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะอาการต่างๆเหล่านี้ อาจไม่ใช่เพียงอาการเบบี้บลู (Baby Blue) หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) หรือ โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) ซึ่งมีความอันตรายต่อทั้งคุณแม่และคุณลูก และไม่สามารถหายได้เอง จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
การพุดคุยให้กำลังใจ ให้ความรู้ แชร์ประสบการณ์การเลี้ยงดูทารก ก็มีส่วนช่วยได้ การได้แก้ปัญหาสุขภาพของคุณแม่ เช่นปัญหาการให้นมลูก ภาวะท้องผูก เจ็บแผล ต่างๆ ถ้าได้รับการแก้ไข คุณแม่ก็จะผ่อนคลายจากความเครียดได้ การได้ออกไปข้างนอกบ้านบ้าง ทำกิจกรรมที่คุณแม่เคยได้ทำ เช่น การเลือกซื้อของใช้ส่วนตัว ได้ทานอาหารที่ชอบ ก็มีส่วนช่วยผ่อนคลายได้ แต่ถ้าลองแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆแล้ว อารมณ์ของคุณแม่ยังไม่ดีขึ้นได้ อาจพัฒนากลายเป็นภาะซึมเศร้าหลังคลอด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการช่วยดูแลต่อไป
ที่มา