กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต หลัง เจ้าของสวนสยาม ถูกการไฟฟ้าเรียกเก็บค่าไฟย้อนหลัง 1 ปี กว่า 11 ล้านบาท ทั้งที่มีการปิดเครื่องเล่นใหญ่ไป 3 เครื่อง ขายที่ไปกว่า 30 ไร่ เรื่องราวจะจบอย่างไรติดตามใน ถกไม่เถียง !
วันที่ 19 ก.ย. 66 นพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ (หญิง) รองผู้จัดการใหญ่ บจก.สยามพาร์คบางกอก ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด 35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ เล่าว่า ช่วงสิ้นเดือน มี.ค. 66 การไฟฟ้าติดต่อเข้ามาขอมาติดเครื่องวัดเทียบมิเตอร์ไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบว่ามิเตอร์ของสวนสยามทำงานปกติหรือไม่ และทางการไฟฟ้าได้มาติดมิเตอร์ดังกล่าว เมื่อเดือน 1 เม.ย. 66 จากนั้นการไฟฟ้าก็เงียบไปกระทั่งได้มาติดมิเตอร์ตัวใหม่ในเดือน 2 ส.ค. 66 ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แจ้งผลการวัดเทียบมิเตอร์แต่อย่างใด จากนั้นวันที่ 1 ก.ย. 66 ได้มีหนังสือจากการไฟฟ้าแจ้งมาเรียกเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลังไปถึงเดือน พ.ค. 65 เป็นจำนวนเงิน 11,636,341 บาท โดยให้จ่าย ภายในวันที่ 15 ก.ย. 66 ตนเองจึงทำหนังสือร้องของความเป็นธรรมไปที่การไฟฟ้าให้ยกเลิกเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลัง แต่ก็ไม่มีการตอบกลับจากการไฟฟ้า
ทั้งนี้ ค่าไฟในเดือนที่เป็นปัญหาถูกเรียกย้อนหลัง คือ ตั้งแต่ พ.ค. 65 จนถึง ธ.ค. 65 ที่เป็นช่วงเริ่มกลับมาเปิดกิจการตามปกติจากสถานการณ์โควิด โดยค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กปิดเทอม แล้วช่วงโลว์ซีซั่นของนักท่องเที่ยว ทำให้ค่าไฟถูกกว่าช่วงปกติในปี 62 ทว่าตั้งแต่เข้าปี 66 ค่าไฟเฉลี่ยพุ่งขึ้นสูงมากเฉลี่ย 3 ล้านบาท ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะเป็นช่วงพีคของนักท่องเที่ยว และทางสวนสยามก็ได้จ่ายค่าไฟตามบิลตลอด แต่กลับต้องมาจ่ายค่าไฟย้อนหลังกว่า 11 ล้านบาท โดยการไฟฟ้าให้จ่ายย้อนตั้งแต่เดือน พ.ค. 65 ถึง เม.ย. 66 และให้เหตุผลว่าค่าไฟมันลดลงผิดปกติ
ขณะเดียวกันในช่วงปี 64 จะเห็นได้ว่าค่าไฟถูกกว่าปกติ เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ เพราะ เป็นปีที่มีวิกฤติการณ์โควิด 19 จนต้องปิดกิจการ อีกทั้งเรายังมีการตัดที่ดินขายไปกว่า 30 ไร่ ให้หมู่บ้านจัดสรรไป ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีเครื่องเล่นอยู่ 3 เครื่อง ก็ต้องปิดตัวลงไป และเป็นเครื่องเล่นที่กินไฟทั้งนั้น อาทิ รถไฟเหาะ อาคารไดโนโทเปีย สวนป่าแอฟริกา รวมถึงบ้านพักคนงานกว่า 50 ชีวิตด้วย ทำให้การไฟฟ้าน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าเปิดบริการสวสนสยามมากว่า 44 ปี ไม่เคยบิดพริ้วปฏิเสธการจ่ายเงินค่าไฟเลยสักงวด บิลมาเท่าไหร่เราจ่ายทั้งหมด อาจจะมีบางงวดที่ผ่อนจ่ายเนื่องจากสถานการณ์บริษัทไม่ค่อยดี ไม่นึกเลยว่าวันนี้จะมาออกรายการเพื่อร้องขอความเป็นธรรม
ด้าน ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ เจ้าของสวนสนุกสวนสยาม กล่าวว่า วันที่ 8 ก.ค. 66 มีสายปริศนาโทรเข้ามาหาตนขึ้นต้นด้วยเบอร์ 02 อ้างตัวเป็นพนักงานการไฟฟ้า แจ้งกับตนว่าตนมีหนี้มหาศาลกับการไฟฟ้าเลย ให้ตนไปคุยกับเขาและได้นัดตนไปที่ร้านอาหาร พร้อมกับบอกให้ตนพกเงินไปด้วย เขาจะเคลียร์เคสนี้ให้ แต่ด้วยความกลัวตนจึงกดวางสายไป ต่อมาลูกน้องได้บอกกับตนว่าน่าจะเป็นพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ตนก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนภายในหรือภายนอกของการไฟฟ้า แต่เขารู้ว่าตนจะต้องมียอดค้างค่าไฟมหาศาลจริง ๆ
สำหรับเรื่องค่าไฟ ตนก็ยังสงสัยอยู่ว่าตั้งแต่ปี 66 มีการเรียกเก็บค่าไฟเฉลี่ย 3 ล้านกว่า ซึ่งสูงมากกว่าปกติไม่รู้ว่าการไฟฟ้าเอาค่าพวกนี้มาจากไหน ทั้งที่เครื่องเล่นก็มีการปิดตัวลง ค่าไฟไม่น่าจะขึ้นไปถึงขนาดนั้น ทั้งนี้ ตนขอร้องเรียนความเป็นธรรม ถ้ามันมีความผิดปกติจริง มาตรวจสอบให้เห็น ๆ กันเลย ถ้ามันเกินจริงตนยินดีจ่าย แต่จะมาเหมาสุ่มสี่สุ่มห้าแบบนี้ตนตกใจ
ฟาก ณรงค์ศักดิ์ พิมพ์หนู ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขตมีนบุรี เผยว่า กรณีนี้ ช่วงเดือน พ.ย. 65 เรามีการตรวจพบว่าหน่วยไฟฟ้าของสวนสยามผิดปกติเมื่อได้ตรวจสอบก็พบว่ามิเตอร์ของสวนสยามชำรุด เกิดจากการถูกฟ้าผ่า จึงได้มีการติดตั้งมิเตอร์เทียบไฟฟ้าขึ้นในเดือน เม.ย. 66 ก็พบว่าหน่วยไฟฟ้าของจริงแสดงค่าต่ำกว่าของปกติ 40% จึงได้มีการคิดคำนวนค่าไฟย้อนหลังโดยคิดอย่างละเอียดเพิ่มเป็นเปอร์เซนต์จากการเทียบมิเตอร์ที่แสดงหน่วยคลาดเคลื่อนไว้ในแต่ละเดือน แต่อย่างไรก็ตาม ทางการไฟฟ้าไม่ได้ปิดกั้นการเจรจากับผู้บริโภค เราเปิดรับฟังความเห็นของผู้บริโภคด้วยความเป็นธรรม
ส่วนเรื่อง ค่าไฟของสวนสยามในปี 65 มันมากกว่า การเปิดเต็มระบบในปี 61-62 เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการเข้าไปตรวจสอบโดยละเอียด เพียงแต่เรายึดตามหน่วยมิเตอร์เท่านั้น ส่วนในประเด็นเรื่องค่าไฟของใหม่ ที่ขึ้นมาสูงนั้น เป็นหน่วยค่าไฟที่ขึ้นมาจากมิเตอร์ของใหม่ เราต้องยึดตัวเลขจากมิเตอร์นี้ ส่วนค่าไฟของเก่านั้น ตนยินดีที่จะเข้าไปเจรจากับ ดร.ไชยวัฒน์ เพื่อลดค่าไฟได้ สุดท้ายในประเด็นของ สายปริศนาโทรเข้าไปเรียกเงินจาก ดร.ไชยวัฒน์ เราได้ตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีเบอร์นี้ภายในหน่วยงาน ตนอยากให้ ดร.ไชยวัฒน์ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหากรรโชกทรัพย์กับผู้ที่โทรเข้ามา ถ้าเกิดเป็นพนักงานของการไฟฟ้าตนก็ไม่เอาไว้เช่นกัน
ด้าน รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า การไฟฟ้าเคยมีคดีในลักษณะนี้ ที่คำนวนค่าไฟพลาดแถมยังแพ้คดีในชั้นศาลอีกด้วย ส่วนการดูว่าค่าไฟคำนวนผิดหรือไม่นั้นเขาจะนับแค่ส่วนที่เอามิเตอร์ตัวใหม่มาติดตั้ง และพิสูจน์ได้ว่าใช้ไฟเกิน และเอาค่าที่เกินนี้ไปคำนวนย้อนหลัง ที่สำคัญถ้าเกิดเรายังไม่จ่าย 11 ล้านบาท เรายังอยู่ในขั้นตอนโต้แย้ง แล้วเขาจะตัดไฟเลยหรือไม่ เขาจะมาบีบบังคับให้ผู้บริโภคจำยอมจ่ายเงินให้ไม่ได้ มันไม่ถูกต้องตามเจตนารมย์ของกฎหมาย
สำหรับทางออก ควรจ่ายเฉพาะเดือนที่มีมิเตอร์เทียบจริง ๆ คือตั้งแต่เดือน เม.ย. 66 ส่วนที่ย้อนหลังไป ตนไม่เห็นด้วย เพราะ ตัวเลขที่ใช้หน่วยวัดจริง ๆ มันไม่มีมันแค่เป็นการคำนวนลอย ๆ มา แถมยังสามารถหักลบจากการปิดใช้เครื่องเล่นได้อีก แสดงว่าสูตรไม่มีความน่าเชื่อถือเลย ถ้าเป็นตน ตนไม่จ่าย แต่ห้ามมาถอนการติดตั้งหม้อแปลงของตน
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35