เด็กในช่วงอายุใกล้ 2 ขวบ จะเริ่มมีอารมณ์ขึ้นลง เนื่องจากพัฒนาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่มากขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา เช่น หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจ งอแง ไม่พอใจจะร้องไห้ หรือโวยวาย ซึ่งถือเป็นพัฒนาการปกติของช่วงวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองจึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรม และพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อจะได้หาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสม ซึ่งวันนี้เราจะพามาทำความรู้จัก และทำความเข้าใจกับ “วัยทองสองขวบ” พร้อมทั้งการรับมือกับลูกน้อยอย่างถูกวิธีอีกด้วย
วัยทองสองขวบคืออะไร
วัยทอง 2 ขวบ หรือ Terrible two คือการที่เด็กวัยประมาณ 2 ขวบ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และพฤติกรรม อย่างเห็นได้ชัด เด็กช่วงวัยนี้มักจะเริ่มมีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่คาดเดาได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่จะพัฒนาความรู้สึกของตนเอง มีความเป็นตัวของตัวเองในการริเริ่มอยากทำอะไรต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้สอดคล้องกับความสามารถของตัวเอง ดังนั้น เด็กจะเกิดความไม่พอใจและแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยพฤติกรรมจะเป็นไปตามสรีรวิทยาของสมอง และในจังหวะที่เด็กอายุประมาณขวบกว่า ๆ เป็นช่วงของสมองในด้านของอารมณ์ที่เริ่มจะพัฒนามากขึ้น
สภาวะทางอารมณ์ของเด็กมักจะเป็นอารมณ์ที่ขึ้นลงแบบสุดๆ เช่น ดีใจสุด โกรธสุด เสียใจสุด ไม่ค่อยมีเหตุผล เพราะสมองส่วนเหตุผลจะโตช้ากว่าส่วนของอารมณ์ จึงทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าเด็กในวัยนี้อารมณ์จะเด่นชัดมาก เวลาที่เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นจะแสดงออกทางอารมณ์ทันที โดยที่ยังไม่มีเหตุผล
การเข้าใจพื้นอารมณ์ของเด็ก (Temperament)
เด็กแต่ละคนจะมีนิสัยแตกต่างกันออกไป แต่พื้นอารมณ์ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูจากคนในครอบครัว เด็กที่มีนิสัยใจร้อน เอาแต่ใจ ขี้เหวี่ยง แต่ถ้าการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยที่ก้าวร้าว เมื่อโตขึ้นก็จะไม่ได้มีนิสัยที่ใจร้อนจนขีดสุด จะสามารถควบคุมอารมณ์ไปในทางที่ดีได้ แต่ในช่วงวัยนี้ที่เด็กใจร้อนหรืออารมณ์เสียง่าย เหวี่ยงวีน เป็นไปตามวัยตามพัฒนาการของสมองที่กล่าวไว้ข้างต้น เด็กบางคนที่มีพื้นฐานนิสัยเป็นคนที่ใจร้อนก็อาจแสดงออกมากกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่จะต้องยิ่งใส่ใจในการปรับพฤติกรรมให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม
วิธีรับมือเมื่อลูกเข้าสู่วัยทอง 2 ขวบ
1. ใจเย็น เข้าใจความต้องการของลูก
เด็กวัยนี้อาจจะยังสื่อสารบอกความต้องการได้ไม่ดี และพยายามจะทำอะไรเองก็ยังไม่สำเร็จ จึงหงุดหงิดตัวเอง และหงุดหงิดสิ่งรอบตัวได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงควรรับรู้ว่าเป็นเรื่องปกติตามวัยของเขา พร้อมกับหมั่นพูดคุย สอบถามความต้องการของลูกเสมอว่าลูกอยากจะทำอะไร ให้แม่ช่วยไหม ต้องมีความสม่ำเสมอในการแนะนำลูก
2. เปลี่ยนจากคำสั่ง เป็นขอความร่วมมือ
การขอความร่วมมือ ให้เด็กได้เลือกเอง เพื่อกระตุ้นให้ลูกรู้สึกว่าเขาทำได้ ให้เขามีสิทธิเลือก ที่สำคัญต้องพูดคุยอย่างใจเย็น ใจดี และเชื่อว่าลูกทำได้เสมอ ลูกจะได้อารมณ์ดีให้ความร่วมมือง่ายขึ้น การพูดขอความร่วมมือจะทำให้ลูกรู้สึกเป็นคนสำคัญในสายตาพ่อแม่ ต่อต้านน้อยลงได้
3. เอาใจใส่ ชมเชยในสิ่งที่ลูกทำได้ดี
เพื่อให้ลูกมีความภาคภูมิใจ และอารมณ์ดีได้ง่ายขึ้น โดยพ่อแม่ต้องให้คำชื่นชมลูกน้อยทุกครั้งที่ลูกเล่นกับเด็กคนอื่นได้ดี แบ่งของเล่นให้น้องได้ หรือเมื่อลูกช่วยเหลือตัวเองได้ดี เช่น ทานอาหารเอง เก็บของเล่นเอง แต่งตัวเอง
4. อ่านนิทาน สร้างเหตุการณ์สมมุติ
เด็กในวัยนี้ให้ทำอะไรมักจะปฏิเสธว่าไม่ ไม่ชอบ กลัว หรืออื่น ๆ พ่อแม่ต้องไม่บังคับลูก แต่อาจจะต้องหานิทานหรือการ์ตูนช่วยสอนลูกให้เข้าใจสถานการณ์ แก้ไขปัญหาอารมณ์ ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ พฤติกรรมแบบไหนที่ไม่เหมาะสม เช่น เมื่อลูกไม่ยอมแปรงฟัน อาจอ่านนิทานหนูนิดชวนแปรงฟัน หรือ สอนลูกให้กินข้าวและเข้านอนเป็นเวลา ด้วยนิทานที่บอกเวลา หรือจะเป็นการ์ตูนรถไฟที่ออกเดินทางตามเวลาเสมอ
5. เข้าใจความต้องการของลูก
หากลูกน้อยอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่พร้อมจะทำตามหรือให้ความร่วมมือ เช่น ลูกกำลังเหนื่อยหรือหิว ก็ควรตอบสนองลูกทันที เช่น หาอะไรรองท้องให้ลูก ให้ลูกได้งีบหลับก่อนอาบน้ำ เพราะความเหนื่อยและความหิวเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ที่สำคัญ หากไปบังคับหรือในลูกทำอะไรในช่วงนี้ลูกจะอาละวาดได้
ที่มา
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/terrible-two
https://www.babygiftretail.com/ลูกวัยทอง2ขวบ-เอาแต่ใจ-รับมือแบบไหนดี/