เช้านี้ที่หมอชิต - เริ่มแล้วการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวานและวันนี้ ซึ่งจะใช้เวลารวมกันทั้งหมด 30 ชั่วโมง
ฝ่ายค้านรุมซัด เศรษฐา แถลงนโยบาย มาตรฐานต่ำกว่าส่วนสูง
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดฉากแถลง กล่าวถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยวางกรอบไว้เป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวระยะสั้นหรือระยะเร่งด่วนที่ทำ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ตามกราฟฟิค ดังนี้ ทำทันที เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อันนี้ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ต่อมา แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกรและกลุ่มอื่น ๆ ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่หมาะสม ถัดไป การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ด้วยการจัดการราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตามด้วย การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว และสุดท้ายคือ การแก้ความเห็นต่างในรัฐธรรมนูญ
สำหรับระยะกลางและระยะยาว มีเรื่องการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต มีหัวข้อย่อยแบ่งออกไปหลายเรื่อง เช่น การใช้ทูตเศรษฐกิจเปิดประตูการค้า ตลาดใหม่ การกระจายอำนาจ ด้วยผู้ว่า CEO การสนับสนุนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ การสร้างและพัฒนาระบบสาธารณะสุข เป็นต้น
เมื่อนายเศรษฐาแถลงจบ จึงเข้าสู่ช่วงการอภิปรายและซักถาม นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับหน้าที่เป็นมือแรกของฝ่ายค้านในการชำแหละนโยบายรัฐบาล ซึ่งต้องบอกว่าทั้งจัดหนัก ทั้งเชือดเฉือน ทั้งสอนมวย โดยระบุว่าเป็นนโยบายไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ เปรียบเป็น GPS หลงทาง มีแต่ความว่างเปล่า เบาหวิว ไม่ได้บอกอะไร เหมือนเป็นคำอธิษฐานมากกว่าการแถลงนโยบาย เพราะไม่มีรายละเอียด มาตรฐานตก หากเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีความชัดเจน ไม่ว่าเป้าหมายหรือที่มางบประมาณ หากตัดเกรดให้คะแนนคือเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เขียนคำแถลงเหมือนคำอธิษฐาน เหมือนกัน คือไม่ต้องทำตามสัญญาที่ทำไว้ตอนหาเสียงก็ได้
นางสาวศิริกัญญา ยังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยด้วยว่า ต้องใช้เงิน 560,000 ล้านบาท จะนำเงินมาจากไหน หากวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ทางเลือกแรก งบปี 67 แต่คงไม่เพียงพอ เพราะเหลือเพียง 400,000 ล้านบาท ยังต้องแบ่งกับกระทรวงต่าง ๆ อีก ส่วนทางเลือกที่สอง คือ เงินนอกงบประมาณ จะขายสมบัติชาติ เช่น ขายกองทุนวายุภักษ์ 346,000 ล้านบาท ไปดีไหม หรือจะล้วงกระเป๋ากองทุนหมุนเวียน ซึ่งกองทุนที่มีเงินมากพอ มีกองทุนข้าราชการบำนาญ กับกองทุนประกันสังคม แต่ทางเลือกนี้ตนขอแบนเพราะไม่ใช่เงินรัฐบาลทั้งหมด ส่วนอีกทางคือไปกู้แบงก์รัฐ ซึ่งจะต้องไปแก้ไขกรอบวินัยการเงินการคลังก่อน แนวทางนี้สามารถทำได้ก็จริง แต่คงไม่สง่างามนัก สำหรับการดำเนินนโยบายที่นายกรัฐมนตรี พร่ำพูดมาตลอดว่า ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.และรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายอย่างดุเดือดเช่นกันว่า นโยบายของรัฐบาล สวนทางกับความสูงของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นหนังคนละม้วนกับนโยบายที่ใช้หาเสียง ไม่ตรงปก แต่กลายเป็นนโยบายนินจา หายไปอย่างไร้ร่องรอย ขณะที่นโยบายฟื้นฟูหลักนิติธรรมของรัฐบาลข้ามขั้ว แม้เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบาลสลายขั้ว แต่สลายความขัดแย้งไม่ได้ เพราะสิ่งที่จะสลายความขัดแย้งได้ มีเพียงหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งเท่านั้น นั่นคือ ทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่า จน รวย เคยมีอำนาจ ไม่เคยมีอำนาจ ไม่เว้นแม้แต่นักโทษ ต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมและเสมอกัน นโยบายฟื้นฟูหลักนิติธรรมถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นความหวัง แต่จะศักดิ์สิทธิ์เป็นจริงได้ อยู่ที่ตัวท่านนายกฯ เท่านั้น
เศรษฐา ลั่นเดินหน้าดิจิทัลทันที
ต่อมาในช่วงเย็น นายเศรษฐา ลุกขึ้นแจงยิบในหลายประเด็นที่สภาตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ยืนยันชัดเจนว่า จะไม่แก้ทั้งหมวด 1 และ หมวด 2 เรื่องการพักหนี้ของเกษตรกร บอกว่า 9 ปี ที่ผ่านมามีการพักหนี้ไปแล้ว 13 หน จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ทุกคนบอกว่า การพักหนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และรัฐบาลตระหนักดีในเรื่องนี้จึงมีมาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่กับการพักหนี้ เช่น ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม ที่จะทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในเวลา 4 ปี นอกจากนี้ ยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดในการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตด้วย
จุลพันธ์ ยืนยัน ไม่แตะต้องเงินสมบัติชาติ
ขณะที่ในเรื่องที่มาของเงินดำเนินโครงการกว่า 500,000 ล้านบาท มีความพยายามชี้แจงในเรื่องนี้จาก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยปฏิเสธชัดเจนว่า เงินทำโครงการจะไม่ใช่การขายสมบัติชาติ หรือไปล้วงกระเป๋ากองทุนต่าง ๆ แน่นอน อย่าพูดให้เข้าใจผิด ขอให้เชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม ในคำตอบของ นายจุลพันธ์ ก็ยังไม่ได้ตอบว่าที่มาของเงินมาจากไหน
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม