ซื้อรถยนต์มาแล้วเกิดผ่อนไม่ไหว จึงเกิดคำถามขึ้นว่าต้องค้างผ่อนกี่งวดถึงจะถูกไฟแนนซ์มายึดรถ หรือหากมั่นใจแล้วว่าผ่อนไม่ไหวแน่ ๆ จะสามารถนำรถไปคืนเลยได้หรือไม่ ?
ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร มีข้อมูลที่น่าตกใจว่ามีบัญชีสินเชื่อรถยนต์ของกลุ่มคน GEN Y ที่มากถึง 600,000 บัญชี และเป็นหนี้เสียไปแล้วกว่า 350,000 บัญชี ส่วนในกลุ่มคน GEN X มีบัญชีสินเชื่อรถยนต์กว่า 400,000 บัญชี และเป็นหนี้เสียไปแล้วกว่า 200,000 บัญชี ซึ่งหากรูปแบบการชำระเงินของลูกหนี้ยังเป็นเช่นนี้อยู่ ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า มีโอกาสที่จะได้เห็นบัญชีรถยนต์ถูกยึดมากถึง 1 ล้านคัน ซึ่งถือว่าเยอะมาก และจะก่อให้เกิดเป็นปัญหามากมายตามมา
เรื่องของการยึดรถ ข้อมูลรถ 1 ล้านคัน เป็นข้อมูลที่มาจากกลุ่มคนที่เริ่มขาดส่งหรือเลี้ยงงวด ความหมายของการเลี้ยงงวดคือ ไม่จ่าย 2 งวด พอเข้าเดือนที่ 3 ใกล้จะถูกยึดรถค่อยจ่ายเพียง 1 งวด คงค้างไว้ 1 งวด ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะโดยปกติแล้วหากไม่จ่าย 3 งวด ทางไฟแนนซ์จะออกหนังสือติดตามทวงถาม เพื่อให้เคลียร์หนี้ 3 งวดนั้น ภายในระยะเวลา 30 วันหรือ 1 เดือน แต่หากไม่เรียบร้อยก็จะเข้าสู่กระบวนการขอยึดรถต่อไป
สำหรับคนที่ถูกยึดรถไปแล้ว ต้องเข้าใจว่าเรื่องไม่ได้จบง่าย ๆ เพราะต้องดูอีกทีว่ารายได้จากการขายทอดตลาดเพียงพอกับหนี้หรือไม่ หากไม่พอจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าติ่งหนี้ ที่ต้องตามเช็ดตามล้างไปจนหมด ดังนั้น ในทางที่ดี ไม่ควรผิดนัดชำระ หรือหากเริ่มมีกลิ่นตุ ๆ ก็ควรเข้าไปเจรจากับไฟแนนซ์ เพื่อขอปรับเปลี่ยนแผนการผ่อนหรือเงื่อนไขต่าง ๆ แต่หากผ่อนไม่ไหวจริง ๆ ก็สามารถเจรจาเรื่องของการขอคืนรถได้ โดยทางไฟแนนซ์จะขอให้จ่ายส่วนที่ค้างค่างวดอยู่ จากนั้นก็ทำเรื่องคืนรถกันไปตามระเบียบ สิ่งสำคัญก่อนการคืนรถ คือ ควรตรวจสภาพรถก่อนส่งมอบ และเก็บหลักฐานเป็นภาพถ่าย จดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เพื่อป้องกันตัวเองไว้ก่อน
สำหรับคนที่ถูกยึดรถไป อย่างที่เกรานไปว่าเรื่องหลังจากนั้นอาจไม่จบง่าย ๆ ลองจินตนาการดูว่าเมื่อถูกยึดรถไปแล้ว ต้องถูกนำไปเก็บไว้ที่เต็นท์รถเพื่อรอการขายออก และระหว่างที่รอการขายออก ดอกเบี้ยปรับและอื่น ๆ ยังคงวิ่งเพิ่ม ทำให้ราคารถยิ่งนานวันก็ยิ่งลดลง และหากขายทอดตลาดไปแล้วได้เงินน้อยกว่าส่วนต่างที่ค้างอยู่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าติ่งหนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ระหว่างที่รถถูกยึดไปก็อย่าใจเย็น ควรหาทางเก็บเงินเตรียมไว้ไปเจรจากับไฟแนนซ์ เพราะบางทีติ่งหนี้นั้นเขาอาจปรับลดลงให้จ่ายน้อยขึ้นก็ได้
การคืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง หรือเป็นการคืนโดยสมัครใจ จะไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างหรือที่เรียกว่าติ่งหนี้ แต่ต้องมีข้อเท็จจริงตามกฎหมายดังต่อไปนี้
1. ผู้เช่าซื้อต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นขอคืนรถกับผู้ให้เช่าซื้อก่อนผิดนัดครบ 3 งวด
2. ผู้ให้เช่าซื้อติดต่อตกลง และนัดหมายรับรถที่เช่าซื้อคืนจากผู้เช่าซื้อ และรับรถเช่าซื้อแล้ว
3. ผู้เช่าซื้อเนี่ยจะต้องไม่มีภาระค้างค่างวดเช่าซื้อ หรือการเป็นลูกหนี้ชั้นดี
4. ไม่ปรากฏว่า ขณะที่ผู้ให้เช่าซื้อรับรถคืนแล้ว ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อภายหลัง
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital