logo ข่าวเย็นประเด็นร้อน

ตำรวจ เผย ! “หลอกให้กู้เงิน” ติดอันดับ 3 แจ้งความออนไลน์ | เบื้องหลังข่าว กับ กาย สวิตต์

ข่าวเย็นประเด็นร้อน : พูดถึงเรื่องการหลอกให้กู้เงิน หรือแอปฯ เงินกู้ที่เป็นต้นเหตุให้ผู้นำครอบครัวหนึ่งต้องก่อเหตุสลดขึ้น ด้วยการฆ่าคนในครอบครัวแ ช่อง7,ช่อง7HD,CH7,CH7HD,7HD,CH7HDNEWS,ข่าว,ข่าว7,ข่าวช่อง7,ข่าววันนี้,ข่าวใหม่,ข่าวล่าสุด,ข่าวสด,ข่าวเด็ด,ข่าวด่วน,ข่าวร้อน,ข่าวไทย,ข่าวออนไลน์,ข่าวโซเชียล,ข่าวสังคม,ข่าวภูมิภาค,ข่าวเศรษฐกิจ,ข่าวการเมือง,ดูทีวีย้อนหลัง,ดูรายการย้อนหลัง,ดูย้อนหลัง,ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,TERODigital,ข่าวเย็นประเด็นร้อน,สวิตต์ ลีละพงศ์วัฒนา,สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์,เปรมสุดา สันติวัฒนา,ฝนฟ้าอากาศ,ทิน โชคกมลกิจ

342 ครั้ง
|
28 ส.ค. 2566
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - พูดถึงเรื่องการหลอกให้กู้เงิน หรือแอปฯ เงินกู้ที่เป็นต้นเหตุให้ผู้นำครอบครัวหนึ่งต้องก่อเหตุสลดขึ้น ด้วยการฆ่าคนในครอบครัวและพยายามฆ่าตัวตายตามนั้น มีข้อมูลจากตำรวจว่าในบรรดาการแจ้งความออนไลน์ การหลอกให้กู้เงิน ถือเป็นคดีที่มีการแจ้งความมากเป็นอันดับที่ 3 จากทั้งหมดที่มี 14 ประเภทคดีออนไลน์
 
การหลอกให้กู้เงินออนไลน์ แล้วหลอกให้โอนเงิน จนผู้กู้หมดตัว เป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนฆ่าตัวตายมาแล้วหลายครั้ง อย่างเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นายอัฐวุฒิ อายุ 35 ปี หนุ่มโรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าแอปฯ กู้เงิน แต่ถูกหลอกให้โอนเงินจนหมดตัว สุดท้ายก็ผูกคอฆ่าตัวตาย แค่นั้นไม่พอแอดมินแก๊งหลอกให้กู้เงินออนไลน์ ยังแชตข้อความเยาะเย้ยผู้เสียชีวิตด้วยว่าเพราะโลภเอง
 
ล่าสุด เกิดขึ้นกับครอบครัวในจังหวัดสมุทรปราการ แก๊งหลอกให้กู้เงินออนไลน์ หลอกให้โอนเงินไป 1 ล้านกว่าบาท ชีวิตถึงทางตัน ทำให้ผู้เป็นสามีตัดสินใจฆ่าภรรยา ลูก 2 คน และพยายามฆ่าตัวตายตาม การหลอกให้กู้เงินนั้น ถือว่าเป็นคดีในลำดับต้น ๆ ที่มีการแจ้งความออนไลน์
 
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บอกว่า สถิติการแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 จนถึง 28 มิถุนายน 2566 พบว่า การหลอกให้กู้เงิน ถือเป็นคดีที่มีการแจ้งความมากเป็นอันดับที่ 3 จากทั้งหมดที่มี 14 ประเภทคดีออนไลน์ จำนวนคดี 25,121 คดี คิดเป็น 19.99 เปอร์เซ็นต์ ยอดเงินความเสียหาย 1,400 กว่าล้านบาท ส่วนการแจ้งความออนไลน์อันดับ 1 เป็นการหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 108,383 คดี ความเสียหาย 1,600 ล้านบาท อันดับ 2 หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานฯ เช่นหลอกให้ดูยูทูบแลกเงิน 38,669 คดี ความเสียหาย 4,700 ล้านบาท
 
การหลอกให้กู้เงินจะมี 2 รูปแบบ รูปแบบแรก กู้แล้วได้เงินจริง แต่พอเหยื่อตกลงกู้เงินจะให้แอดไลน์ แล้วติดตั้งแอปฯ เงินกู้ ซึ่งได้เงินจริง แต่จะหักเงินเยอะมาก ขูดรีดดอกเบี้ยสุด ๆ เช่น กู้เงิน 6,000 บาท ได้เงินแค่ 3,600 บาท ที่เหลือ 2,400 บาท เป็นค่าดำเนินการ ที่สำคัญแอปฯ ประเภทนี้ ผู้กู้ต้องอนุญาตให้เข้าถึงรายชื่อผู้ติดต่อ นั่นคือแก๊งพวกนี้จะได้รายชื่อเพื่อนในโทรศัพท์เราไป ถ้าตามเงินจากผู้กู้ไม่ได้ จ่ายช้า จ่ายไม่ตรงก็จะโทรหาคนเหล่านั้นให้อับอาย หรือโทรไปขู่ให้จ่ายแทน
 
ส่วนการหลอกให้กู้แบบที่ 2 เป็นแบบไม่ได้เงิน ซึ่งลักษณะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พวกนี้จะมีการโฆษณาที่ดึงดูด เช่น กู้ได้เยอะ อนุมัติไวใน 15 นาที ติดเครดิตบูโรก็กู้ได้ ไม่ต้องมีคนค้ำ ถ้าเหยื่อหลงกลไปทำรายการกู้เงินจะมีการหลอกให้โอนเงินก่อน อ้างเป็นค่าธรรมเนียม ค่าตรวจเครดิตบูโร ค่าดอกเบี้ยเริ่มต้น แล้วแต่แก๊งพวกนี้จะกล่าวอ้าง แต่สุดท้ายเหยื่อไม่ได้เงิน ซึ่งพวกนี้จะขู่ต่อว่า ถ้าไม่โอนเงินต่อจะทำให้เงินก้อนแรกที่โอนไปแล้วสูญเปล่าไป จากนั้นอาจอุปโลกน์ให้คุยกับทนาย ทำกันเป็นขบวนการ
 
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ บอกด้วยว่า แก๊งหลอกให้กู้เงินออนไลน์ ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่จะตั้งฐานหลอกลวงกันอยู่ที่ประเทศคือกัมพูชา แต่ว่าช่วงหลัง ตำรวจไทยร่วมมือกับกัมพูชา ปราบปรามแก๊งเหล่านี้หนักขึ้น ทำให้ตอนนี้ส่วนใหญ่หนีไปตั้งฐานหลอกลวงคนไทยในฝั่งจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
 
ส่วนมาตรการต่าง ๆ นอกเหนือจากการปราบปรามนั้น ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา หลังมีการประกาศใช้ พระราชกำหนดปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะมีสิ่งที่ช่วยในการยับยั้งเงินที่ถูกแก๊งหลอกให้กู้เงิน และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้โอน โดยหากรู้ว่าตกเป็นเหยื่อถูกหลอกให้โอนเงินให้แจ้งธนาคารทันที ผ่านเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุ Hotline ของแต่ละธนาคาร และแจ้งความออนไลน์ ซึ่งธนาคารจะระงับธุรกรรมบัญชีธนาคารนั้นได้ชั่วคราว 72 ชั่วโมง ส่วนบรรดาบัญชีม้าก็มีโทษหนักขึ้น คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท
 
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
 
 
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง