เช้านี้ที่หมอชิต - หลังจากที่เมื่อวานนี้ เรานำเสนอข่าว ดาราสาวช่อง 7HD ถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า หลอกว่าจะดำเนินการคืนเงินค่าประกันไฟฟ้าให้ แต่ให้สลับซิมการ์ด จากโทรศัพท์ไอโฟน มาใส่ในแอนดรอยด์ แล้วหลอกให้โหลดแอปฯ จากลิงก์ กรอกชื่อ เบอร์โทร จนสุดท้ายถูกดูดเงินในบัญชีไปเกือบ 200,000 บาท วันนี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีการเมื่อรู้ตัวว่ากำลังถูกดูดเงิน
ดาราสาวถูกมิจฉาชีพหลอกดูดเงิน งงคนร้ายมีข้อมูลส่วนตัว
เหตุการณ์นี้ คุณอ้อม อังคณา อึ๊งเจริญ ดารานักแสดงของช่อง 7HD เป็นผู้เสียหาย โดยคนร้ายคุยกับคุณพ่อก่อน และบอกข้อมูลที่ถูกต้องว่า คุณพ่อทำเรื่องขอคืนเงินประกันค่าไฟฟ้า แต่ยังไม่ได้เงิน นี่เป็นจุดแรกที่ทำให้คุณพ่อตายใจ ซึ่งคุณอ้อมสงสัยว่า ทำไมคนร้ายรู้ข้อมูลเหล่านี้ได้
จุดที่ 2 คนร้ายรู้ด้วยว่า พ่อของเธอพิการ ซึ่งตรงจุดนี้เธอก็สงสัยเหมือนกันว่า ข้อมูลที่ลึกเช่นนี้ตกไปอยู่ในมือของคนร้ายได้อย่างไร นำมาสู่การหลงเชื่อ นำซิมออกจากมือถือไอโฟนไปใส่ในมือถือแอนดรอยด์ของพ่อ ตามคำแนะนำของคนร้าย แล้วกดลิงก์ที่คนร้ายส่งมา กรอกชื่อ ใส่เบอร์โทรศัพท์ จนถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคารไปเกือบ 200,000 บาท
ผู้เชี่ยวชาญชี้ ข้อมูลรั่วไหล 5 อย่าง เป็นอย่างน้อย
อาจารย์ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์เช้านี้ที่หมอชิตว่า เรื่องการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล ยืนยัน มีล้านเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกิดจากหลากหลายทาง โดยข้อมูลหลักที่รั่วไหลแน่ ๆ มีอย่างน้อย 5 อย่าง ประกอบด้วย 1.ชื่อ-นามสกุล 2.วันเดือนปีเกิด 3.เลขประจำตัวประชาชน 4.ที่อยู่ 5.เบอร์โทรศัพท์
ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์มักจะมีข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ และบางรายรู้ถึงกิจกรรมที่ผู้เสียหายทำด้วย เช่น การซื้อสินค้า การติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นข้อมูลที่ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ จากนั้นก็ให้แอดไลน์คุย
เชื่อคนร้ายหลอกเหยื่อให้ยืนยันตัวตน-ใส่รหัส โดยไม่รู้ตัว
ส่วนกรณีดาราสาวที่ถูกคนร้ายส่งลิงก์การไฟฟ้า หรือ PEA มาให้กด อาจารย์ปริญญา บอกว่า คนร้ายไม่สามารถรีโมตลงแอปฯ ดูดเงินในไอโฟนได้ จึงหลอกให้ถอดซิมไปใส่ในเครื่องแอนดรอยด์ ซึ่งลิงก์แอปฯ การไฟฟ้า หรือ PEA ที่คนร้ายส่งมาให้กด เป็นแอปฯ ธนาคารของโจร ที่ซ่อนมาในรูปของแอปฯ PEA เมื่อเราไปกดดาวน์โหลดในเครื่อง และขั้นตอนนี้เราต้องเผลอยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP ที่ส่งมาในเครื่องแอนดรอยด์ที่เราใส่ซิมไว้ และเผลอไปใส่รหัสให้คนร้ายด้วย คนร้ายจึงรีโมตเครื่องและทำการโอนเงินออกจากแอปฯ ธนาคารของเราได้ ซึ่งสังเกตได้ว่าช่วงที่หน้าจอหมุนหรือเป็นสีขาว คือ ช่วงที่คนร้ายกำลังถอนเงิน โดยทุกวันนี้ ถ้าโอนเงินออกเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง จะต้องสแกนใบหน้า จึงพบว่าในการถอนเงินออกจากบัญชีคุณอ้อม จึงโอนออกครั้งละ 49,850 บาท จำนวน 4 ครั้ง
แนะนำหากรู้ตัวถูกหลอกดูดเงิน ให้รีบปิดโทรศัพท์ทันที
อาจารย์ปริญญา ชวนสังเกตว่า ช่วงที่คนร้ายดูดเงินจากบัญชี คนร้ายก็จะชวนคุยไปเรื่อยเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจหน้าจอที่กำลังเปลี่ยนเป็นสีขาว ถ้าเห็นแบบนี้ และฉุกคิดได้ว่ากำลังถูกหลอกดูดเงิน ให้รีบปิดเครื่องโทรศัพท์มือถือ เพื่อตัดการถอนเงินทันที คนร้ายจะทำอะไรต่อไม่ได้ แล้วรีบหาโทรศัพท์เครื่องอื่นแจ้งธนาคารเพื่อระงับการทำธุรกรรมทุกอย่างก่อน จึงเปิดเครื่องโทรศัพท์ได้ ส่วนการดึงซิมออกหลังรู้ตัวว่าถูกดูดเงินก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเราอาจต่อไวไฟกับโทรศัพท์ไว้ เครื่องทำงานต่อได้
อาจารย์เอนก บอกด้วยว่า แอปฯ ธนาคารที่อยู่ในเครื่องไอโฟน คนร้ายทำอะไรไม่ได้ จึงหลอกให้ถอดซิมมาใช้กับแอนดรอยด์ เพื่อสามารถดูดเงินได้ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ วางสายไปเลย แต่ถ้าหลวมตัวคุย ก็ให้ฉุกคิดว่า ไม่มีหน่วยงานรัฐใดเสียเวลาคุยกับคุณนาน ๆ ยิ่งสั่งให้ถอดซิมการ์ด ก็ให้รู้ว่านี่มิจฉาชีพแน่นอน
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35