ข่าวเย็นประเด็นร้อน - มิจฉาชีพที่ใช้วิธีส่งลิงก์ให้กดแล้วดูดเงินจากแอปฯ ธนาคารในโทรศัพท์ ยังคงหลอกและสร้างความเสียหายให้เหยื่ออยู่ ซึ่งแม้ผู้คนจะระวังตัวเองอยู่แล้วจากข่าวที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์มากมาย แต่มิจฉาชีพเหล่านี้มีการใช้ข้อมูลจริง เหตุการณ์จริง ที่เหยื่อกำลังติดต่อกับหน่วยงานรัฐมาสวมรอยหลอกให้สมจริงมากยิ่งขึ้น เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของดาราสาวช่อง 7 และกรณีนี้มิจฉาชีพให้ผู้เสียหายสลับซิมการ์ดไปใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์ แล้วใช้ข้อมูลที่ได้คือชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไปดูดเงินในแอปฯ ธนาคารจากโทรศัพท์ระบบไอโอเอส หรือ ไอโฟน
อ้อม อังคณา อึ๊งเจริญ ดารานักแสดงของช่อง 7HD เป็นผู้เสียหายรายล่าสุดที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม หรือเมื่อ 2 วันที่ผ่านมานี่เอง ทำให้ต้องสูญเสียเงินในบัญชีธนาคารเกือบ 2 แสนบาท โดยอุบายของมิจฉาชีพที่ทำให้หลงเชื่อเพราะว่าสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า อ้างมาดำเนินการคืนเงินค่าประกันไฟฟ้า ที่คุณพ่อของอ้อม เคยดำเนินการไว้ ทำให้ อ้อม และคุณพ่อหลงเชื่อโดยสนิทใจ เพราะว่าคุณพ่อเคยทำเรื่องขอคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าไว้จริง
คุณอ้อม เล่าจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ว่า ช่วงปี 63 คุณพ่อเคยทำเรื่องขอคืนเงินประกันค่าไฟฟ้าไว้ ตามนโยบายรัฐที่ช่วยค่าครองชีพในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ว่าตอนนั้นไม่สามารถรับเงินได้ เพราะว่ากรอกข้อมูลผิด จากนั้นก็ไม่ได้ตามเรื่องอีกเลย
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ระหว่าง อ้อม ออกไปทำงาน มิจฉาชีพได้ติดต่อคุณพ่อเข้ามา อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า จะมาดำเนินการคืนเงินค่าประกันไฟฟ้าให้ หากยังไม่รับเงินในวันที่กำหนด คือ 15 สิงหาคมนี้ เงินจะถูกยึดและเก็บเข้าส่วนกลาง และที่ทำให้คุณพ่อหลงเชื่อเพราะว่า มิจฉาชีพได้แจ้งข้อมูลของคุณพ่อถูกต้องหมดเลย
เมื่อ อ้อม กลับมาถึงบ้าน คุณพ่อเล่าให้ฟังและยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจริง เพราะแจ้งข้อมูลส่วนตัวได้หมดเลย อ้อม จึงดำเนินการต่อ ซึ่งมิจฉาชีพแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ อีกครั้ง และมิจฉาชีพรู้แม้กระทั่งข้อมูลที่ระบุว่าคุณพ่อเป็นผู้พิการ
จากนั้นมาถึงขั้นตอนสำคัญ มิจฉาชีพแจ้ง อ้อม ว่าให้ช่วยเป็นผู้รับเงินแทนคุณพ่อ จะได้ไม่ต้องลำบากเดินทางไปยืนยันตัวตนที่ธนาคาร โดยให้ อ้อม สลับไปใช้มือถือระบบแอนดรอยด์ในการดำเนินการ อ้อม จึงนำซิมการ์ดจากเครื่องไอโฟน ระบบไอโอเอส ที่เธอใช้อยู่ ไปใส่ในมือถือแอนดรอยด์ของพ่อ จากนั้นมิจฉาชีพส่งลิงก์มาให้ทางไลน์ เพื่อให้โหลดแอปฯ ที่อ้างว่าเป็นของการไฟฟ้า ชื่อแอปฯ PEA ซึ่งเหมือนกันกับแอปฯ การไฟฟ้าของจริงเลย เมื่อโหลดแล้วก็ใส่ชื่อนามสกุล เบอร์โทร แล้วทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพบอกประมาณ 30 นาที ต่อมามีข้อความขึ้นมาประมาณว่ากำลังมีการเปลี่ยนรหัสเข้าแอปฯ ธนาคาร จากนั้นแอปฯ PEA ที่ติดตั้งไว้ก็หายไป และไลน์ที่คุยกับมิจฉาชีพก็หายไปด้วย
อ้อม บอกว่า ตอนนั้นตั้งสติได้ และรู้แล้วว่าโดนมิจฉาชีพหลอก จึงรีบอายัดบัญชีธนาคารทุกบัญชีที่มี และต่อมาเมื่อรู้บัญชีปลายทางเงินจากบัญชีของเธอถูกโอนออกไปเป็นของธนาคารแห่งหนึ่ง จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 49,850 บาท รวม 199,400 บาท ก็แจ้งกับเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งนั้นเพื่อให้อายัดบัญชีดังกล่าว แต่ว่าธนาคารให้ไปแจ้งความก่อน แล้วเอาใบแจ้งความไปที่ธนาคารจึงจะอายัดบัญชีได้ เมื่อได้ไปแจ้งความและไปที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ธนาคารช่วยเหลืออย่างดี แต่ขั้นตอนก็ซับซ้อนมาก ๆ ทำให้ไม่ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม รู้เพียงแค่ว่าบัญชีเดียวกับที่ดูดเงิน อ้อม นั้นมีผู้เสียหายร่วมมาแล้วหลายคน รวมถึงวันเดียวกับที่ อ้อม โดนด้วย ซึ่ง อ้อม ก็ตั้งคำถามว่า ขั้นตอนที่มากมายในการอายัดบัญชีปลายทาง เป็นจุดอ่อนหนึ่งที่ทำให้คนร้ายโยกย้ายเงินได้ง่าย
อ้อม บอกว่า ตอนนี้ทำใจว่าคงไม่ได้เงิน แต่อยากให้มีความคืบหน้าของคดี และอยากจะรวบรวมผู้เสียหายที่ถูกดูดเงินไปที่บัญชีปลายทางเดียวกัน ให้ติดต่อเธอมา เพื่อรวบรวมดำเนินคดีกับมิจฉาชีพกลุ่มนี้ โดยเธอได้โพสต์เรื่องราวที่ถูกหลอกไว้ในอินสตาแกรมของเธอเพื่อเตือนภัย
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม