ข่าวเย็นประเด็นร้อน - หญิงสาวคนหนึ่งร้องเรียนเข้ามายังรายการถกไม่เถียงว่า เธอน่าจะถูกบริษัทค่ายมือถือแห่งหนึ่ง แอบนำสำเนาบัตรประชาชน ไปเปิดเบอร์โทรศัพท์ให้ลูกค้ารายอื่นนานถึง 6 ปี เธอมารู้เพราะมีใบเรียกเก็บเงินที่ค้างจ่ายไว้ 1,600 กว่าบาท จึงตัดสินใจฟ้องศาลเพื่อเตือนให้ผู้บริโภครู้ว่ามีเรื่องแบบนี้อยู่จริง
คุณอทิตยา พึ่งสาคร บอกว่า เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2565 เธอได้รับจดหมายติดตามค่าใช้บริการและแจ้งสิ้นสุดการให้บริการสัญญาณมือถือรายเดือน จากค่ายมือถือแห่งหนึ่ง เป็นเงิน 1,673 บาท 84 สตางค์ โดยค่ายมือถือที่ทวงถาม เป็นค่ายมือถือที่เธอใช้บริการอยู่ด้วย จึงคิดว่าน่าจะเป็นจดหมายที่เกิดจากความผิดพลาดของพนักงาน
แต่ถัดมาอีก 3 เดือน ในเดือนมิถุนายน 2565 มีจดหมายทวงหนี้จากค่ายมือถือดังกล่าวมาถึงเธอ ให้ชำระเงินยอดเดิมที่เคยทวงถามมา ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดี ทำให้คุณอทิตยา ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ในจดหมาย ปรากฏว่า ชื่อนั้นเป็นชื่อของเธอถูกต้อง แต่เบอร์โทรเป็นเบอร์ที่เธอไม่เคยเปิดใช้บริการมาก่อน จึงไปติดต่อที่ช็อปของค่ายมือถือค่ายนั้น ซึ่งตรวจสอบให้พบว่า เบอร์ดังกล่าวถูกเปิดใช้เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 ที่ช็อปในห้างสรรพสินค้า
คุณอทิตยา บอกว่า เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าว ก็มั่นใจว่า เธอน่าจะถูกพนักงานของค่ายมือถือแห่งนี้ นำสำเนาบัตรประชาชนที่เธอเป็นลูกค้าอยู่ ไปเปิดเบอร์โทรศัพท์ให้บุคคลอื่น ซึ่งถ้านับจากวันที่เปิดเบอร์โทรศัพท์จากปี 2559 ถึง 2565 นับเป็นเวลานานถึง 6 ปี และเธอจะไม่มีวันรู้เลย หากคนที่ใช้เบอร์ดังกล่าวไม่ปิดเบอร์ และค้างค่าโทรศัพท์อยู่พันกว่าบาท เธอจึงพยายามเจรจากับพนักงาน แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ถ้าข้อมูลยังเป็นชื่อคุณอทิตยา ก็จำเป็นต้องเก็บค่าบริการตามชื่อที่ปรากฏ แต่ถ้าจะแก้ไขข้อมูลต้องใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอจ้างทนายฟ้องค่ายมือถือแห่งนี้
โดยเป็นการฟ้องแพ่งฐานละเมิด เอาหลักฐานและชื่อไปใช้เปิดเบอร์โทรศัพท์ 6 ปี เรียกค่าเสียหาย 600,000 บาท ซึ่งคุณอทิตยา บอกว่า ในชั้นไกล่เกลี่ย บริษัทค่ายมือถือเสนอชดเชยความเสียหาย 50,000 บาท แต่จะให้เป็นโทรศัพท์ไอโฟน 14 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมค่าใช้สัญญาณโทรศัพท์ฟรี 1 ปี แต่คุณอทิตยา ไม่รับ ยืนยันจะสู้เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนที่ถูกละเมิดลักษณะแบบเดียวกันได้รักษาสิทธิ์ของตัวเอง แม้จะต้องเสียค่าทนายที่แพง และการเสียเวลาไปศาล
เบื้องหลังข่าวกับกายสวิตต์ โทรศัพท์สอบถามไปที่ทนายความของบริษัทค่ายมือถือดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า ในปี 2559 คุณอทิตยา ได้ไปเปิดเบอร์มือถือใหม่ และมีลูกค้าอีกคนต่อคิวจากคุณอทิตยา แต่พนักงานที่บันทึกข้อมูล เกิดบันทึกข้อมูลผิดพลาด ไปก็อปชื่อของคุณอทิตยา ที่บันทึกรายการเสร็จแล้ว ไปใส่ในข้อมูลของลูกค้าอีกคนที่ต่อคิวจากคุณอทิตยา ทำให้ระบบบันทึกข้อมูลชื่อผิดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยืนยันว่า พนักงานไม่ได้นำข้อมูลไปใช้เพื่อเปิดเบอร์โทรศัพท์ให้ลูกค้าคนอื่น ซึ่งเมื่อเรื่องนี้ถึงชั้นศาลแล้ว ก็จะสืบพยานไปตามหลักฐานที่มีอยู่ดังที่ให้ข้อมูลมาเช่นนี้
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง เราจึงติดต่อสอบถามไปยังสภาองค์กรของผู้บริโภค คุณภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งแนะนำว่า กรณีนี้ที่เป็นไปตามที่ผู้เสียหายบอกว่าถูกนำบัตรประชาไปเปิดเบอร์ให้คนอื่น อาจจะเกี่ยวกับเรื่องคดีอาญาด้วย และสามารถแจ้งเรื่องกับ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคม ส่วนหากผู้ประกอบการค่ายมือถือ บอกว่า เป็นการบันทึกข้อมูลผิดพลาด หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ยังเป็นการประมาทเลินเล่อต่อผู้บริโภค และหากคิดในแง่ร้ายเกิดคนที่ใช้เบอร์นี้ไปทำผิดกฎหมาย คุณอทิตยา จะเสียหายกว่านี้หรือไม่
คุณภัทรกร ก็แนะนำด้วยว่า ในส่วนของผู้บริโภคเอง ตอนนี้ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเรา ตอนนี้ กสทช. กำหนดให้ค่ายมือถือทุกค่าย จะต้องมีช่องทางให้ลูกค้าตรวจสอบชื่อเราว่ามีการเปิดเบอร์ใช้กี่เบอร์ ซึ่งหลายค่ายก็มีแอปพลิเคชั่นให้ตรวจสอบ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนกับคุณอทิตยา
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม