เช้านี้ที่หมอชิต - อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดขั้นตอนการรับตัว ทักษิณ กลับไทย 10 สิงหาคม ชี้เข้าเกณฑ์เป็นผู้ต้องขังสูงอายุ เตรียมส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กักตัวหาเชื้อโควิด-19 ราว 10 วัน หากมีโรคประจำตัว ส่งเข้าหอผู้ป่วยรักษาต่อเนื่อง
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงแนวทางการรับตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีเดินทางกลับเข้าประเทศไทยว่า ขั้นตอนแรกจะเป็นในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะรับตัวและทำบันทึกการจับกุมตามขั้นตอน
ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ต้องว่าไปตามหมายศาล หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ขณะนี้ราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับหมายศาลใด ๆ
สำหรับกระบวนการจำแนกคัดกรองผู้ต้องขัง ดำเนินการตามขั้นตอนทั่วไป สำหรับนายทักษิณถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ โดยจะนำตัวไปยังห้องกักโรคของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำการกักโรคเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ประมาณ 10 วัน
ถัดไปจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หากเจ้าตัวมีโรคประจำตัว ที่จะต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง โดยย้ายไปยังหอผู้ป่วย ส่วนกรอบเวลารักษาโรคไม่ได้กำหนดไว้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการ และให้ความเห็นว่าเสร็จสิ้นเมื่อไร
สำหรับคดีของนายทักษิณ ที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว และมีโทษจำคุก มีทั้งสิ้น 3 คดี โทษรวมจำคุก 10 ปี คือ 1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือคดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
2.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพเมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา
และ 3.คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
คดีที่ไม่ถูกจำคุก โดยมี 1 คดีหมดอายุความ คือ คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ซึ่งนายทักษิณ ไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี ปัจจุบันคดีหมดอายุความแล้ว
มี 2 คดีที่ถูกยกฟ้อง คือ 1.คดีกล่าวหาว่าอนุมัติให้กระทรวงการคลัง เข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI และ 2.คดีธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ตีตกข้อกล่าวหา 2 คดี คือ 1.คดีสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุด นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล
และ 2.คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อตสอง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหา เพราะไม่มีเทปลับที่อ้างถึงการสั่งการของนายทักษิณ
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35