logo ข่าวเย็นประเด็นร้อน

“เพื่อไทย” แจ้งยกเลิกประชุม 8 พรรคร่วม ด้าน “ประยุทธ์” ปัดตอบนายกฯ คนนอก

ข่าวเย็นประเด็นร้อน : ข่าวเย็นประเด็นร้อน - การเมืองวันนี้ ตอนแรกเหมือนจะได้เห็นความชัดเจนจาก 8 พรรคร่วมที่จะมีการประชุมกันในวันนี้ แต่ว่าสุดท้าย ช่อง7,ช่อง7HD,CH7,CH7HD,7HD,CH7HDNEWS,ข่าว,ข่าว7,ข่าวช่อง7,ข่าววันนี้,ข่าวใหม่,ข่าวล่าสุด,ข่าวสด,ข่าวเด็ด,ข่าวด่วน,ข่าวร้อน,ข่าวไทย,ข่าวออนไลน์,ข่าวโซเชียล,ข่าวสังคม,ข่าวภูมิภาค,ข่าวเศรษฐกิจ,ข่าวการเมือง,ดูทีวีย้อนหลัง,ดูรายการย้อนหลัง,ดูย้อนหลัง,ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,TERODigital,ข่าวเย็นประเด็นร้อน,สวิตต์ ลีละพงศ์วัฒนา,สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์,เปรมสุดา สันติวัฒนา,ฝนฟ้าอากาศ,ทิน โชคกมลกิจ

338 ครั้ง
|
25 ก.ค. 2566
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - การเมืองวันนี้ ตอนแรกเหมือนจะได้เห็นความชัดเจนจาก 8 พรรคร่วมที่จะมีการประชุมกันในวันนี้ แต่ว่าสุดท้ายทางพรรคเพื่อไทย ได้แจ้งขอยกเลิกการประชุมวันนี้ไปก่อน
 
เพื่อไทย แจ้งยกเลิกประชุม 8 พรรคร่วม
 
แต่แรกนั้น กำหนดการที่ถูกออกล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้ คือ จะมีการนัดประชุม 8 พรรคร่วม ที่พรรคเพื่อไทย เวลา 14.00 น. แต่ว่าเนื่องจากมีกระแสข่าวผู้ชุมนุมบางส่วนจะเดินทางมาที่พรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องแจ้งย้ายสถานที่ไปที่รัฐสภาแทน นัดหมายกันเวลา 15.00 น. แต่ว่าจากนั้นไม่นาน พรรคเพื่อไทย ได้แจ้งในไลน์กลุ่มผู้สื่อข่าวประจำพรรคว่า วันนี้ยกเลิกการประชุม 8 พรรค ซึ่งผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังแกนนำพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการยกเลิกการประชุมในวันนี้ และยังไม่ได้กำหนดว่าจะประชุม 8 พรรคร่วมในวันใด
 
ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่พรรคเพื่อไทยแจ้งยกเลิกการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลว่า เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทย แจ้งผ่านข้อความในไลน์ ว่างานที่ได้รับมอบหมายยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยได้โทรแจ้งตนก่อนที่จะแจ้งผ่านไลน์แล้ว ซึ่งคิดว่าพรรคเพื่อไทยยังต้องการเวลาในการทำข้อเสนอ รวมถึงอาจจะเกี่ยวกับทาง สว. ด้วย ส่วนการกำหนดวันประชุม 8 พรรคร่วมอีกครั้งนั้น ต้องดูว่าวันที่ 27กรกฎาคมนี้ จะยังมีประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกฯ หรือไม่ หากยังมีการประชุมอยู่ 8 พรรคร่วม ก็ต้องประชุมภายในวันที่ 26 กรกฎาคม แต่หากการประชุมโหวตนายกฯ ถูกเลื่อนออกไป ก็เป็นไปได้ที่จะประชุม 8 พรรคร่วมฯ หลังช่วงนั้น
 
ไทยสร้างไทย แสดงจุดยืนไม่แก้ 112
 
แม้ 8 พรรคร่วม ยกเลิกการประชุมแต่ว่าบางพรรคที่อยู่ใน 8 พรรคร่วม ก็ยังมีการประชุมพรรคอยู่ หนึ่งในนั้นคือพรรคไทยสร้างไทย ที่มีการประชุมคณะผู้บริหารพรรค นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ซึ่งภายหลังการประชุม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคได้แถลง 5 จุดยืนของพรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วย
 
1. ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย
 
2. ระหว่างทางจัดตั้งรัฐบาลจะมีปัญหาและอุปสรรคบ้าง แต่ขอให้กำลังใจให้เดินหน้าต่อไป
 
3. ขอให้แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคร่วมหาทางออกร่วมกัน ถอยกันคนละก้าว
 
4. ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจอย่างเด็ดขาด และไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112
 
5. หากสามารถตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยได้ตามที่ประชาชนคาดหวังก็จะดีที่สุด
 
คนเสื้อแดง ให้กำลังใจ เพื่อไทย
 
ส่วนที่พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดงหลายกลุ่มเดินทางมาให้กำลังใจพรรคเพื่อไทย พร้อมยื่นแถลงการณ์เรียกร้อง 4 ข้อ ในฐานะผู้โหวตเลือกพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
 
1. พรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรม 100 ในทางการเมืองทุกมิติ เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาล
 
2. พรรคเพื่อไทย ต้องรวมเสียงพรรคการเมืองอื่น ที่ไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 มาร่วมเป็นรัฐบาล โดยเงื่อนไข MOU 8 พรรคได้สิ้นสุดลงแล้ว
 
3. สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่มาจากพรรคเพื่อไทย โดยการยื่นโหวตให้ทันท่วงที เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องได้ทันเวลา
 
4. ให้พรรคเพื่อไทย คำนึงถึงคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่า 10 ล้านเสียงเป็นที่ตั้ง มากกว่ากังวลกับคำวิพากษ์วิจารณ์
 
จากนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงได้นำข้าวต้มมัด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการมัดรวมของ 8 พรรคการเมืองมาแกะออก แล้วยืนกินบริเวณหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อสะท้อนว่า ข้าวต้มมัด หากมัดรวมกันไว้ไม่แกะมากิน ก็รังแต่จะบูดเน่าเสียหาย แกะให้ประชาชนกินยังมีประโยชน์กว่า เปรียบเหมือนปัญหาปากท้องประชาชนที่รอไม่ได้ ถึงเวลาที่ต้องแกะข้าวต้มมัดออกจากกัน เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้
 
อนุทิน โพสต์เนื้อเพลงเจ้ากบ วงแกรนด์เอ็กซ์ แซะอยู่แต่ในกะลา
 
มาดูในส่วนของพรรคขั้วรัฐบาลเดิม นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นภาพรถยนต์คลาสสิกสะสม พร้อมเลือกใช้แคปชันบรรยายภาพเป็นเนื้อเพลงของวงแกรนด์เอ็กซ์ ชื่อเพลง เจ้ากบ โดยเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่นายอนุทินหยิบยกขึ้นมา คือ กบน้อยตัวนิด ๆ อยู่มิดชิดแต่ในกะลา มันจึงนึกไปว่าในกะลาคือโลกกว้างใหญ่ กบเอ๋ยเจ้าไม่รู้ว่า โลกโสภากว้างใหญ่เพียงไหน จึงทะนงหลงผิดไปว่าโลกกว้างใหญ่นั้นคือกะลา
 
ต่อมา หลังการประชุม ครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่โพสต์ดังกล่าว นายอนุทิน ตอบว่า พูดถึงตัวเอง ไม่มีอะไร เมื่อถามย้ำว่า ไม่ได้ต้องการสื่อถึงใครใช่หรือไม่ นายอนุทิน บอกว่า เพื่อเป็นการเตือนตัวเอง ก่อนเดินขึ้นรถกลับออกจากทำเนียบ
 
ธนกร ซัดกลับปมไม่เอา 2 ลุง ไม่เอา ก้าวไกล เหมือนกัน
 
ส่วนท่านนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีเมื่อวาน ที่พรรคก้าวไกล บอกว่าไม่ร่วมรัฐบาลกับ 2 พรรค ว่า จริง ๆ แล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติ พูดตั้งแต่ต้นว่า ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งตรงนี้เป็นความชัดเจนของพรรคอยู่แล้ว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ปัดตอบนายกฯ คนนอก
 
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินลงจากตึกบัญชาการ 1 หลังประชุม ครม. เสร็จสิ้น ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมโบกมือให้ผู้สื่อข่าวผู้สื่อข่าวถามว่าที่บอกว่าการตั้งรัฐบาลไม่ควรยืดไปถึง 10 เดือน นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดูความเสียหาย ต้องดูและทำให้ถูกต้องตามระเบียบและกติกาเมื่อถามถึงกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ระบุการตั้งรัฐบาลหากไปไม่ได้ มองว่าการเปิดทางนายกฯ คนนอกอาจจะเหมาะสม และควรไปถึงขั้นนั้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิเสธถึง 2 ครั้งว่า ไม่ทราบ ๆ เมื่อถามย้ำว่าคิดว่าถ้าปล่อยให้ยืดระยะเวลาไปถึง 10 เดือน จริงจะเสียหายกับประเทศ
 
หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ตอบกันเองก็ได้มั๊ง นักข่าวถามต่อ ที่นายกฯ ประกาศวางมือการเมือง ถือเป็นการเปิดทางให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้าร่วมรัฐบาลใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถาม ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า
 
เสรี จวกผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำเกินหน้าที่
 
ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กรณีรัฐสภามีมติห้ามเสนอชื่อนายพิธาซ้ำนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งชะลอการโหวตนายกฯ รอบ 3 ออกไปก่อนนั้น
 
ในระหว่างการประชุมวุฒิสภาวันนี้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ลุกขึ้นอภิปรายว่า ตามที่มีผู้ยื่นคำร้อง 17 เรื่อง ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนตัวเข้าใจเพราะปัจจุบันคน และหน่วยงานต่าง ๆ กลัวทัวร์ลงกันเยอะ จึงทำให้มีแรงกดดันในสังคมไทย แต่ไม่ว่าอย่างไรหน่วยงานต้องมีมาตรฐาน เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ยึดหลักตามรัฐธรรมนูญที่แบ่งหน้าที่ชัดเจนแล้วว่า มีฝ่ายนิติบัญญัติบริหารและตุลาการ ซึ่งเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำหน้าที่ในสภา ก็ถือว่าเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ การทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นอำนาจอธิปไตยของชาติ ต้องมีคนถ่วงดุลอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการซึ่งกันและกัน
 
ดังนั้น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจสูงสุดของประเทศ คือมติรัฐสภา การใช้อำนาจทางนิติบัญญัติเมื่อตัดสินแล้ว ต้องยุติในรัฐสภา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าสภา ตัดสินวินิจฉัยเรื่องใดไปแล้วส่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องกลั่นกรองตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรู้ความสามารถ ว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่อย่างไร
 
ทั้งนี้ หากต่อไปรัฐสภาทำงานไปแล้ว เกิดมีคนไม่พอใจหรือนักการเมืองด้วยกันเองไม่พอใจยื่นเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่มีคนร้องเยอะ ๆ กลัวทัวร์ลงก็ส่งไปศาล
 
ต่อมา นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในห้องประชุมวุฒิสภา ชี้แจงทันทีว่า การส่งข้อบังคับการประชุมที่ 41 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มีองค์ประกอบครบถ้วน ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนข้อเสนอที่ให้ชะลอเรื่องเลือกนายกรัฐมนตรี นั้น นายทิฆัมพร ระบุว่า หากข้อบังคับที่ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหากเลือกนายกรัฐมนตรีไปก็จะเกิดผลเสียต่อรัฐธรรมนูญ จึงขอให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย และเรื่องนี้เป็นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยไปในทิศทางใด
 
จรัญ ชี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ขาดข้อบังคับรัฐสภา
 
อีกท่านหนึ่ง นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับเรื่องวินิจฉัยกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีรัฐสภาใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 ห้ามนำญัตติใดที่ตกไปแล้วนำมาพิจารณาใหม่ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการละเมิดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ รัฐธรรมนูญมาตรา 149 อนุโลมว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถ้ายังไม่ได้ประกาศใช้ สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือได้ แต่ถ้าเป็นข้อบังคับที่ประกาศใช้แล้ว ให้เป็นเรื่องภายในรัฐสภา ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญจะไปตรวจสอบว่าจะขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปตีความ หรือ ตรวจสอบ ข้อบังคับของรัฐสภาได้ เพราะถือเป็นเรื่องภายในของรัฐสภา
 
ส่วนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา จึงไม่สามารถกระทำได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจบังคับสถาบันรัฐสภา วุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรเพราะถือเป็นสถาบันของชาติ ถ้าทำอย่างนั้นถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตความมุ่งหมายของกฎหมาย ทางออกเรื่องนี้จึงอยู่ที่ประธานรัฐสภาที่จะเรียกประชุม และอาจหารือสมาชิกเพื่อเป็นการรับฟังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็คงใช้มติของที่ประชุมรัฐสภาเป็นทางออก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นกิจการในภารกิจของรัฐสภา เมื่อมีความขัดแย้งก็ให้ที่ประชุมวินิจฉัย
 
เรืองไกร ขอศาล รธน. ตรวจสอบผู้ตรวจการแผ่นดิน
 
นอกจากนี้ วันนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ ถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ตรวจสอบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
วันนอร์ สั่งงดประชุมโหวตนายกฯ 27 ก.ค.
 
อย่างไรก็ตาม ช่วง 14.00 น. ที่ผ่านมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ประชุมฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษาประธานสภาฯ เพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานสภาฯ ที่ประชุมเห็นว่า ถ้าประธานรัฐสภาจะสั่งงดการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ จะทำให้เหตุการณ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น จะได้ไม่มีความขัดแย้งกับที่รัฐสภาจะประชุมกันวันที่ 27 กรกฎาคม หากมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในภายหลัง แต่จะไปประชุมวันใด จะสั่งการบรรจุระเบียบวาระต่อไป ดังนั้นการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 26 กรกฎาคม จึงต้องงดไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาประชุมกัน
 
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
 
 
ชมผ่าน YouTube https://youtu.be/Xc4pqR0Iv0M

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง