เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวางแผนการเดินทาง ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ต้องนับหนึ่งอย่างไร เพื่อให้แผนการสำเร็จลุล่วง
หากพูดถึงการใช้ชีวิตในต่างประเทศ นอกจากรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไปแล้ว ค่าครองชีพก็ต่างจากประเทศไทยด้วย สำหรับผู้ที่วางแผนจะไปเรียนต่อนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมองภาพอนาคต ว่า "ทำไปเพื่ออะไร" โดยมีสิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อเป็นแนวทาง ดังนี้
1. "กำหนดเป้าหมาย" ถามตัวเองก่อนว่า ทำไม... ทำไม... และทำไม... เช่น อาจตั้งคำถามให้ตัวเองว่า ทำไมต้องไปเรียนต่างประเทศ ทำไมต้องเลือกเรียนที่นี่ ทำไมต้องเลือกเรียนหลักสูตรนี้ เพื่อตั้งเป้าหมาย และตอบคำถามให้ตัวเองให้ได้ว่า "ทำไปแล้วได้อะไรกลับมา" เพราะแต่ละสถานที่ทั่วโลก แต่ละทางเลือกเรียน มีข้อโดดเด่นที่ต่างกัน
2. "คำนวณงบประมาณตามเป้าหมาย" เพราะการไปเรียน มิใช่เพียงค่าเล่าเรียนเท่านั้น อย่าลืมนึกถึงค่าครองชีพด้วย โดยระบุระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด
3. "การทำงานพิเศษ" ต้องคิดเผื่อไว้ว่า เมื่อไปแล้วจะทำงานอะไร ช่องทางใด ไม่ใช่การไปตายเอาดาบหน้า
4. "เก็บเงินออม" กำหนดระยะเวลาให้ชัด วางแผนการเงินให้ดี และไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้
การวางแผนเก็บเงินไปเรียนต่างประเทศ ถือเป็นเป้าหมายระยะสั้น โดยมีระยะเวลาที่พอเหมาะตั้งแต่ 0-3 ปี หรืออาจยาวถึง 5 ปีก็ได้ โดยมีหลักการเก็บเงิบ ดังนี้
1. "เห็นเป้าหมายให้ชัด" ว่าจะนำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น บางคนเก็บเงินให้ได้ทั้งก้อน ใช้สำหรับรองรับค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่วางแผนไว้ หรือบางคนเก็บเงินเพียงแค่ส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือค่อยหาเพิ่มจากงานพิเศษที่วางแผนไว้
2. "รายรับ-รายจ่าย ในชีวิตประจำวัน" ดูว่ารายได้ต่อเดือนเท่าไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร เงินเหลือเท่าไร เพราะเครื่องไม้เครื่องมือการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นมีขอบเขตจำกัด โดยเน้นที่ "เงินออม" เป็นหลัก เช่น เงินฝากดอกเบี้ยสูง สลากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ หรือทองคำ ข้อสำคัญห้ามนำไปไว้ใน "สินทรัพย์เสี่ยง" ได้แก่ สิ่งที่มีราคาผันผวนได้รวดเร็ว เช่น หุ้น กองทุนหุ้น สกุลเงินต่างประเทศ หรือสกุลเงินดิจิทัล
3. "หาตัวช่วย" เช่น ทุนการศึกษา เป็นตัวช่วยร่นเวลา และประหยัดค่าใช้จ่ายได้
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital