ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ที่จับตากันมาตั้งแต่เมื่อวานก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อ พรรคก้าวไกล แถลงให้ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไป
ก้าวไกล ให้ เพื่อไทย เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล พร้อมเสนอแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย เอง
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงถึงการจัดตั้งรัฐบาลต่อจากนี้ว่า การเลือกตั้งเมื่อ 14 กรกฎาคม เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย เป็นพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดในฐานะพรรคอันดับ 1 คือการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม
แต่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ชี้ชัดว่าทุกองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งการเมืองจารีต ทุนผูกขาด และองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นบริวารแวดล้อม ไม่ยอมให้ ก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเอาเรื่องมาตรา 112 มาบังหน้า และอ้างความจงรักภักดี มาปะทะกับการเลือกตั้งของประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวผ่าน กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังตัดสิทธิ์การเมืองแกนนำพรรค และยุบ พรรคก้าวไกล ให้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า สว. จึงฝืนมติมหาชน ไม่โหวตเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร มิหนำซ้ำยังกล้าทำลายหลักการตีความข้อบังคับของรัฐสภา ทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนการล้มล้างการปกครอง หรือฉีกรัฐธรรมนูญผ่านกฎหมู่ เพียงเพื่อต้องการขัดขวางไม่ให้เสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯ ในครั้งที่ 2
พรรคก้าวไกล ไม่ยอมรับการตีความข้อบังคับดังกล่าว แต่ภายใต้การทำงานที่สอดประสานกันทั้งองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยม เช่นนี้ จำเป็นต้องขอโทษต่อพี่น้องประชาชน และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกเขาไม่ยอมให้ พรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ดี การที่ คุณพิธา ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ ไม่ได้หมายความว่าภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อพลิกขั้วรัฐบาลจะไม่สำเร็จไปด้วย เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับหนึ่งยังอยู่ นั่นคือการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิมให้สำเร็จ สิ่งสำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่ คุณพิธา จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ แต่เป็นเรื่องประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ หยุดการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคก้าวไกล จะเปิดโอกาสให้ประเทศ โดยให้พรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรค ที่ได้เคยทำ MOU ร่วมกันเอาไว้ ดังนั้นในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรคก้าวไกล จะเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่ พรรคเพื่อไทย เคยสนับสนุน พรรคก้าวไกล
เพื่อไทย เตรียมคุย สว.-สส. มั่นใจ 27 ก.ค. ได้นายกฯ แน่
ในขณะที่ พรรคเพื่อไทย เพิ่งจะแถลงเมื่อเวลา 13.30 น.ที่ผ่านมา โดย นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลง
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ขอขอบคุณ พรรคก้าวไกล ที่ส่งมอบภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับ พรรคเพื่อไทย เป็นไปตามวิถีทางทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ภายใต้เงื่อนไขของการร่วมรัฐบาล 8 พรรคร่วมเดิม ตามที่ ก้าวไกล แถลงไปแล้ว พรรคเพื่อไทย จะหารือกับ 8 พรรคเดิมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
พรรคเพื่อไทย เห็นว่าภายใต้ข้อตกลงของ 8 พรรคเดิม พรรคทั้ง 8 สามารถรวมเสียง 312 เสียง ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา แต่ในการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่เห็นชอบบุคคลที่ 8 พรรค เสนอเป็นนายกฯ เนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับมาตรา 112 จึงส่งผลให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ พรรคจึงจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่า 375 เสียง เบื้องต้นจะขอเสียงจาก สส. สว. และพรรคอื่น เพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ให้ได้ และในเวลา 15.00 น. ได้นัดแกนนำ 8 พรรค มาหารือที่พรรคเพื่อไทย จากนั้นจะแถลง ซึ่งคาดว่าใช้เวลาหรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า MOU เป็นของ 8 พรรคเดิม อยู่บนพื้นฐานคุย 8 พรรคอยู่ ซึ่งต้องปรึกษาหารือกัน ต้องเพิ่มเสียงให้ได้ 375 ให้ได้ อะไรที่ไม่สอดคล้องกับ MOU ก็ต้องมาพิจารณา เป็นโจทย์หลักเพื่อแสวงหาเสียงมาสนับสนุน กลไกที่จะทำให้ได้ 375 เสียง ต้องดำเนินการทั้งหมด เมื่อถามว่าในวันที่ 27 กรกฎาคม จะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า เป็นการดำเนินการในพรรค กรรมการบริหารพรรคมอบให้ตนเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะเข้าที่ประชุมพรรควันที่ 26 กรกฎาคม เพื่อขอมติรับรองว่าจะเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ภูมิธรรม เตรียมคุย ม.112 กับ ก้าวไกล
ด้าน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ประเด็นปัญหามาตรา 112 ที่เป็นเงื่อนไขตั้งรัฐบาลไม่ได้นั้น วันนี้ทั้ง 8 พรรค จะคุยกันว่าปัญหามีอะไรบ้าง ซึ่ง 112 เป็นประเด็นหนึ่ง อาจมีประเด็นอื่นอีก โดย พรรคก้าวไกล ต้องตอบให้ชัด ซึ่งการโหวตนายกฯ ครั้งแรก ได้ สว. 13 เสียง พอครั้งหลังมีเสียงลดน้อยลง ต้องดูว่าเป็นเพราะอะไร เราต้องฝ่าปัญหาตรงนี้ให้ได้
รอมา 2 เดือนกว่าแล้ว จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ โดยดูเงื่อนไขต่าง ๆ ต้องฝ่าไปให้ได้มากที่สุด ตั้งรัฐบาลเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ มติ ครม.วันแรก จะออกมาให้ทำประชามติ ตั้ง ส.ส.ร. มาแก้รัฐธรรมนูญทันที ดังนั้นต้องได้นายกฯ ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ได้รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้
เมื่อถามว่าถ้าเสียงไม่พอ จะคุยกับ ก้าวไกล อย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า คงได้คุยกัน ถ้ายืน 312 เสียง ไม่ขัดข้อง แต่ต้องบอกให้ชัดว่าจะหาเสียงเพิ่มจากไหน ต้องคุยกับ ก้าวไกล ตรง ๆ เรื่องมาตรา 112 จะทำอย่างไร ปัจจัยที่เป็นปัญหากับพรรคไหน พรรคนั้นต้องตอบ เมื่อถามว่าถ้า ก้าวไกล ไม่ลดเพดาน จะทำอย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในวันนี้ คราวที่แล้ว เพื่อไทย หาเสียงให้กับ ก้าวไกล แต่วันนี้โจทย์เปลี่ยน ต้องคุยกับ สว.ใหม่ คุยอย่างเป็นทางการในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาล วันนี้ตั้งใจทำให้บรรลุ เราเชื่อมั่นว่าวันที่ 27 กรกฎาคม เราได้นายกฯ แต่เราต้องหารือกับ 8 พรรคร่วม ว่าอะไรคือหนทางไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้
ชัยธวัช ย้ำจุดยืน ก้าวไกล ไม่เอาลุงร่วมรัฐบาล
จากนั้นเป็นช่วงซักถามของสื่อมวลชน ซึ่งมีการถามเรื่องการแก้กฎหมายมาตรา 112 ซึ่ง นายชัยธวัช ตอบว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับ พรรคเพื่อไทย หลังจากนี้คงเป็นบทบาทของ เพื่อไทย เป็นหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนแคนดิเดตนายกฯ ที่จะเสนอ เมื่อวานหารือกันเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่า เพื่อไทย จะส่งเสนอชื่อใคร และไม่คิดว่าการประกาศให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเร็วเกินไป เป็นไปตามที่ นายพิธา เคยประกาศไว้ วันนี้แม้ไม่สามารถผลักดัน นายพิธา ได้สำเร็จ แต่ต้องจัดตั้งรัฐบาลเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของขั้วรัฐบาลเดิม
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ามีความเห็นอย่างไรต่อบทบาทของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นายชัยธวัช บอกว่า เป็นเรื่องที่ถกเถียง เพราะพรรคเห็นว่าอยู่ในอำนาจประธานสภาวินิจฉัยได้ แต่เมื่อในสภามีความเห็นแตกต่าง ประธานรัฐสภา จึงอาจมีแนวทางแบบนั้น ส่วน นายพิธา ยังกำลังใจดี พรุ่งนี้ก็จะกลับมาทำงาน
วันนอร์ ไม่ท้อเจอทัวร์ลง ยันทำหน้าที่เป็นกลาง
หนึ่งในคนที่ตกเป็นเป้าทัวร์ลงจากกลุ่มที่สนับสนุน พรรคก้าวไกล คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงการโหวตนายกฯ รอบ 2 เมื่อ 9 กรกฎาคม ว่า ยังมีบางประเด็นที่ไม่เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของประธานการประชุมว่า การประชุมวันนั้น เป็นการประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 แต่ก่อนการประชุม มีข้อคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกัน คือ มีบางฝ่ายเสนอว่า ไม่ควรเสนอชื่อซ้ำ เพราะจะไปขัดข้อบังคับข้อที่ 41 แต่มีอีกฝ่ายเห็นว่า การเสนอเลือกนายกฯ ไม่ใช่ญัตติปกติทั่วไป เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม หมวด 9 ที่ได้ออกพิเศษ เพื่อเลือกนายกฯ จึงเกิดการถกเถียงว่าไม่ควรใช้ข้อบังคับข้อที่ 41 และในการประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงต้องไปขอความคิดเห็นต่อที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 แต่การถกเถียงก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และจากที่ได้ฟังการอภิปราย ตลอด 6 ชั่วโมง ไม่มีใครอภิปรายว่า มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงตัดสินใจวินิจฉัยให้ลงมติ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเกิดขึ้น
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ในฐานะประธานรัฐสภา สามารถชี้ขาดได้ โดยไม่ต้องรอมติที่ประชุมว่าชี้ขาดได้ แต่มีคนฟ้องได้ ไม่ใช่ไม่กล้าชี้ขาด แต่วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีข้อมูลชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ก็เป็นเรื่องของข้อขัดแย้ง จึงใช้ข้อบังคับข้อที่ 151 การให้สภาตีความนั้นดีกว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ ยืนยันว่า ไม่ว่ายกไหนก็จะไม่มีวันที่จะท้อใจ เมื่อรับหน้าที่แล้ว ก็จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ตนยึดหลักที่เคยพูดไปแล้ว คือ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ส่วนการโหวตครั้งที่ 3 จะเสนอชื่อเดิมได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ตอบไม่ถูก ต้องแล้วแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่หาก พรรคก้าวไกลไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตนย้ำหลายครั้งแล้วว่าเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ และหากศาลวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องดำเนินไปตามนั้น เพราะมีผลผูกพันไปทุกองค์กร
ส่วนเรื่องทัวร์ลงทั้งในโซเชียลและสมาชิกรัฐสภานั้น ตนมองว่า ใครจะทัวร์ลง ใครจะคิดเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ สามารถคิดแตกต่างได้ ส่วนตัวไม่มีปัญหา และยอมรับได้ ตนได้ทำหน้าที่อย่างดีต้องตัดสินอะไร ย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับการโหวตเลือกนายกฯ ในรอบต่อไป ยังเป็นวันที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งได้ออกหนังสือเชิญประชุมแล้ว และจะประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 26 เวลา 14.00 น.
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35