ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ผ่านวันเลือกนายกฯ รอบที่ 2 มาแล้ว แต่การเมืองยังคงร้อนต่อเนื่อง เพราะว่าหลังจากเมื่อวานนี้ การโหวตนายกฯ รอบที่ 2 จบลงด้วยการลงมติของสมาชิกรัฐสภาว่าไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำได้ บทบาทแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะมาตกอยู่ที่เพื่อไทย
แต่ สว. และพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ประกาศในทิศทางเดียวกันว่า แม้จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเพื่อไทย แต่หากมีพรรคก้าวไกล ร่วมด้วย ก็จะไม่โหวตให้ นี่จึงเป็นทางแพร่ง ที่พรรคเพื่อไทยต้องตัดสินใจว่าจะเดินไปสู่การโหวตรอบที่ 3 แบบไหน
นอกจากนี้ ในส่วนของพรรคก้าวไกลเอง ชะตากรรมที่เจอ ไม่น่าจะจบเพียงแค่การเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ ซ้ำไม่ได้ เพราะเรื่องที่คาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถือหุ้นสื่อ อาจถึงขั้นตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี และอีกเรื่องที่ทนายความของพุทธอิสระ ยื่นไว้ คือ การหาเสียงแก้ 112 อาจไปไกลถึงขั้นยุบพรรคได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ติดตามได้ใน ข่าวเย็นประเด็นร้อน ตลอดทั้งรายการ
โหวตนายกฯ 27 ก.ค. วันนอร์ ย้ำเสนอชื่อ พิธา ไม่ได้อีกแล้ว
แต่จะมาเริ่มต้นกันที่ การนัดวันโหวตนายกฯ รอบ 3 ซึ่งประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้นัดวันเรียบร้อยแล้ว เป็นวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม เวลา 09.30 น. โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์ จากนั้นก็จะเปิดให้สมาชิกอภิปราย ก่อนลงมติเปิดเผยด้วยการขานชื่อเป็นรายบุคคล ซึ่งต้องได้เกิน 374 เสียง จากนี้จะพูดคุยกับวิปทั้ง 3 ฝ่ายอีกครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางการประชุมวันที่ 27 กรกฎาคม
นายวันมูหะมัดนอร์ ย้ำอีกครั้งว่า หลังจากหลายฝ่ายมีการแสดงความเห็นว่า สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชิงนายกรัฐมนตรีในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไปได้ หากมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่น ถูกเสนอชื่อเข้าชิงด้วย ยืนยันว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาได้อีกในการโหวตรอบ 3 และไม่ได้อีกเลยในสมัยประชุมนี้ ซึ่งไม่กังวลในการทำหน้าที่ เพราะพยายามทำดีที่สุดเพื่อทุกฝ่าย
ก้าวไกล ยังสู้ ณัฐวุฒิ ยันเสนอชื่อ พิธา ได้
ประเด็นการเสนอชื่อนายพิธานั้น ในการประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ก่อนเข้าสู่วาระได้แจ้งต่อที่ประชุมกรณีรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ทำให้ขณะนี้มี สส.ทั้งหมด 499 คน
จากนั้น นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ชี้แจงกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ว่า นายพิธาได้รับทราบหนังสือคำสั่งดังกล่าว และได้พูดในสภาแห่งนี้ชัดเจนว่า ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการยอมรับ แต่เป็นการรับทราบ และปฏิบัติตามคำสั่งอย่างสง่างาม ด้วยการหยุดปฏิบัติหน้าที่ และเดินออกจากห้องประชุมนี้อย่างสง่างาม ขณะนี้นายพิธาถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่า นายพิธา เป็นผู้กระทำผิด มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางกฎหมายยังมองว่านายพิธา เป็นผู้บริสุทธิ์ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ยังไม่มีใครทราบได้
ดังนั้น แม้จะมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สถานะของนายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ยังมีสถานะครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ ยังมีโอกาสที่เพื่อนสมาชิกจะเข้าชื่อเสนอนายพิธา ต่อสู้ต่อในฐานะแคนดิเดตนายกฯ และยังลงมติให้ความเห็นชอบนายพิธาได้
อย่างไรก็ตาม กรณีให้ความเห็นชอบการเสนอชื่อต่าง ๆ คงเร็วไปที่จะบอกว่า ยังมีการยืนยันเหล่านั้นหรือไม่ เนื่องจากข้อบังคับการประชุมข้อ 41 วรรคท้าย ระบุว่าประธานฯ อาจพิจารณาต่อได้หากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
ชวน แนะร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน มติรัฐสภาตีตกชื่อ พิธา ซ้ำ
ขณะที่อดีตประธานรัฐสภาในสมัยที่แล้ว นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ถึงมติไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาซ้ำ ว่าขอให้ไปสอบถามกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาฯ และเห็นว่ากระบวนการหลังจากนี้ จะเป็นไปตามที่ประธานรัฐสภาฯ นัดเอาไว้ว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคมนี้
ส่วนกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐสภามีมติโดยอ้างข้อบังคับการประชุม มีอำนาจใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น หากมีปัญหาต่อไปก็ค่อยว่ากัน ซึ่งรับทราบว่า นายวันมูหะมัดนอร์ ได้แนะให้ไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณายื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และขออย่าสมมุติว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร แม้ศาลจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็เป็นมติของรัฐสภาไปแล้ว
เมื่อถามว่า หากผลชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร รัฐสภาพร้อมที่จะยอมรับกระบวนการหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า มติของรัฐสภา ก็เป็นมติของรัฐสภา ในการให้ความเห็นชอบ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะผูกพันกับทุกองค์กร
ย้อนประชุมคู่ขนาน รัฐสภา-ศาลรัฐธรรมนูญ ปิดทาง พิธา นั่งนายกฯ
ย้อนดูเหตุการณ์เมื่อวานนี้ นอกจากการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ รอบ 2 ยังมีการประชุมประจำสัปดาห์ของศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องของ กกต. กรณีนายพิธา ถือหุ้นสื่อ คู่ขนานกันไป ซึ่งในสภานั้น เพียงแค่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ นายพิธา ก็ถูกประท้วงจาก สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 จนประธานรัฐสภาฯ ต้องให้มีการอภิปรายกว่า 8 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมงที่เถียงกันดุเดือดมาก และจบลงที่การลงมติว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำได้อีก ด้วยคะแนน 395 เสียง ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการประชุมคู่ขนานกันไป คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระพิจารณาคำร้องที่ กกต. ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่นั้น รวมทั้งคำขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งหลังประชุมนาน 2 ชั่วโมง ศาลรัฐธรรมนูญก็ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุม ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ นายพิธา ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน อีกทั้งมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 มีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ลงมติเห็นชอบให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. 7 คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายปัญญา อุชชาชน, นายอุดม สิทธิวอรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายอุดม รัฐอมฤต
ส่วนมติที่ไม่เห็นชอบ 2 คน ประกอบด้วย นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และหลังจากหนังสือคำสั่งนี้ส่งไปถึงรัฐสภา นายพิธา ได้ลุกขึ้นอำลาประธาน และสมาชิกรัฐสภา พร้อมกับเดินออกจากห้องประชุม
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35