ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ขณะนี้การอภิปรายเกี่ยวกับการนำข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 มาใช้ ว่าไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ซ้ำได้ ยังคงไม่จบลง ทั้งสองฝ่ายยังคงตอบโต้กันอย่างดุเดือดและประท้วงกันเป็นระยะ
อภิปรายยังไม่จบ เสนอชื่อซ้ำหรือไม่
ทั้งสองฝ่ายกำลังสลับการอภิปรายและโต้เถียงกันเป็นระยะ เช่น การอภิปรายของ นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่หยิบยกเอาประเด็น ม.112 มาอภิปรายด้วย ทำให้มีการประท้วงจากนายวิโรจน์ ว่าถ้าจะเอาเรื่องนี้ก็จะจัดให้จะเอาไหม ทำให้ประธานสภาต้องควบคุมเป็นระยะเพื่อการประชุมให้ดำเนินต่อได้ และเช่นเดียวกัน ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล อภิปรายก็ตามมาด้วยการประท้วงของ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ทำให้การอภิปรายในวันนี้เดินหน้าไปอย่างค่อนข้างช้า และยังไม่รู้ว่าข้อสรุปจะออกมาอย่างไร จะเสนอชื่อ คุณพิธา ซ้ำได้ หรือที่ประชุมจะมองว่าเป็นญัตติที่เสนอชื่อซ้ำไม่ได้ ซึ่งก็จะเป็นการปิดฉากการจัดตั้งรัฐบาลพิธาไปโดยปริยายเช่นกัน
โรม จวกตีความไม่ให้โหวตนายกฯ รอบ 2 ทำลายหลักการ เพื่อเตะตัดขา พิธา
นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการยกข้อบังคับที่ 41 โต้แย้งไม่ให้เสนอชื่อซ้ำครั้งที่ 2 ในการลงมติเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า เป็นการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เพียงเพราะความไม่ต้องการให้ นายพิธา เป็นนายกฯ แต่ทำลายทุกหลักการในรัฐธรรมนูญ เผาบ้านเพื่อไล่หนู ไม่มีบทบัญญัติใดขัดหรืแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการลงมติเลือกนายกฯ ให้เลือกจากแคนดิเดตที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ไม่มีข้อไหนระบุว่าห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำ มีความมุ่งหมายตีความข้อบังคับให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นความพยายามเพื่อเตะขัดขา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า การโหวตไม่ผ่านในรอบแรก จะทำให้สูญเสียสถานะความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญไปเลยหรือ เพราะไม่มีตรงไหนในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้อย่างนั้น จึงไม่สามารถอ้างข้อบังคับให้เป็นโทษแก่แคนดิเดตนายกฯ และจะเป็นการตีความข้อบังคับที่ 41 ขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ นอกจากนี้ หากพิจารณามาตรา 272 วรรค 2 เรื่องการปลดล็อกให้เลือกนายกฯ คนนอก ซึ่งในมาตราฯ ดังกล่าว ระบุว่าหลังปลดล็อกยังสามารถชื่อแคนดิเดตจากพรรคการเมืองได้อีก ชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญรับรองการเสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำได้
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า การลงมติเลือกนายกฯ ไม่ได้มีเพียงมิติทางกฎหมาย แต่เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ถือเอาเสียงของประชาชนนำไปจัดตั้งรัฐบาลที่สอดคล้องเจตจำนงของประชาชน ซึ่งทางการเมืองต้องพูดคุยเจรจา เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน และหลายครั้งการจัดตั้งรัฐบาล มักจะมีอุบัติเหตุระหว่างทางให้คอยแก้ไขเสมอ
การลงมติเลือกนายกฯ ควรเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ให้สภาฯ ได้หาทางพยายามตอบสนองต่อเจตจำนงของประชาชนที่ไปใช้สิทธิใช้เสียง นี่ไม่ใช่พื้นที่ตัดสิทธิคนที่เป็นความหวังของประชาชน พึงระลึกว่าบรรทัดฐานแปลกประหลาดที่พวกท่านได้ร่วมสร้างในวันนี้ วันหนึ่งข้างหน้าจะกลับมาสร้างความลำบากให้แคนดิเดตนายกฯ ของพวกท่านเอง
นายรังสิมันต์ กล่าวสรุปปิดท้ายว่า การพยายามตีความข้อบังคับเพื่อตัดสิทธิแคนดิเดตนายกฯ ไม่ให้ถูกเสนอชื่อเพื่อลงมติรอบที่ 2 เห็นได้ว่ามีข้อปัญหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อครรลองประชาธิปไตย และฝากให้คิดพวกท่านหวาดกลัวยุคสมัยใหม่ขนาดนั้นเลยหรือ
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม