เช้านี้ที่หมอชิต - การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ในวันนี้ มีประเด็นสำคัญที่หลายคนจับจ้องกันอยู่ คือ เรื่องการเสนอชื่อ นายพิธา ซ้ำ ที่ สว. ยกมาเป็นประเด็นสำคัญ ว่าจะยื่นชื่อนายพิธาซ้ำไม่ได้ นั้น เรื่องนี้ ทำได้ หรือ ไม่ได้ รูปการณ์ของการโหวตเลือกนายกฯ วันนี้ จะเป็นอย่างไร เรามีมุมมองของนักวิชาการมาสะท้อนให้ฟัง
โดยมุมมองของอาจารย์ด้านกฎหมาย คือ รองศาสตราจารย์ ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวว่า การโหวตเลือกนายกฯ ในความหมายอย่างกว้าง ถือเป็นญัตติ เพราะเป็นการเสนอให้ที่ประชุมชี้ขาด ทางใดทางหนึ่ง แต่การที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งจะเป็นญัตติ ต้องดูว่ามีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งการโหวตเลือกนายกฯ นั้น มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 272 กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ทำให้ต่างจากกรณีที่เขียนชัด ๆ ว่าเป็น ญัตติ
ในความเห็นส่วนตัว การโหวตเลือกนายกฯ จึงไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับที่ประชุมรัฐสภาในข้อ 41 น่าจะมีการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีปัญหาจะต้องตีความข้อบังคับ ในข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา ที่บอกว่า ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาด ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้น ผลก็จะต้องเป็นไปตามการลงมติในที่ประชุม
ส่วนเรื่องที่ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ สส. ของนายพิธา อาจารย์ณรงค์เดช มองว่า ถือเป็นจุดสำคัญ โดยรูปการณ์เป็นไปได้สูงมากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เกณฑ์ง่าย ๆ คือ มีเหตุอันควรสงสัยว่า สส. มีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพตามที่ถูกร้อง ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นการเสนอเรื่องจาก กกต. และ กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของ สส. ขาดไป ศาลก็มักจะสั่งตาม กกต. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งแนววินิจฉัยที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น
ทางด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ฉายภาพให้เห็นบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นที่รัฐสภา ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ว่า เนื่องจากสมาชิกรัฐสภามีทั้งที่มองว่าสามารถเสนอชื่อ นายพิธา ซ้ำได้ กับอีกฝ่ายที่บอกว่าเสนอซ้ำไม่ได้ ดังนั้นบรรยากาศการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ในช่วงเช้าของวันนี้ ก็จะเป็นการปรึกษาหารือ อภิปรายกันในประเด็นนี้เป็นหลัก ซึ่งอาจจะกินเวลาไปถึง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็อาจจะเป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งการเปิดให้เสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯ ซ้ำอีกครั้ง ก็ยังไม่หมดโอกาสไปเสียทีเดียว
ซึ่งถ้าหากว่าประธานรัฐสภามีดุลยพินิจให้สามารถเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง การโหวตก็จะเริ่มขึ้นในช่วงเที่ยง และน่าจะเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 14.00 น. ก็จะรู้ผลของการโหวต
ส่วนที่บอกว่า หาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล ไปชักชวนพรรคอื่นมาอีก 1 พรรค แล้วยื่นเสนอ นายพิธา เป็นนายกฯ อีกครั้ง กับการเสนอชื่อใครสักคนขึ้นมาเป็นคู่แข่ง แบบนี้จะถือว่าเป็นญัตติใหม่หรือไม่ ก็คงจะต้องมีการถกเถียงกันอีก และเรื่องราวลักษณะนี้ไม่เคยมีในธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐสภาไทยมาก่อน ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
นายสมชัย บอกว่า ถ้าหากมีผลออกมาว่า ไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อีก ที่ประชุมรัฐสภาก็อาจจะหาทางออกด้วยการเสนอชื่อคนอื่นมารับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี หรืออาจจะขอเลื่อนประชุมรัฐสภาออกไปก่อน ซึ่งเชื่อว่าการเลื่อนประชุมสภาออกไปก่อน น่าจะมีความเป็นไปได้สูง ถ้าเป็นไปตามแนวทางนี้ การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะยืดออกไปอีกเป็นเวลา 1 สัปดาห์
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม