ข่าวเย็นประเด็นร้อน - การเมือง ก่อนเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ ยังคงต้องจับตาในหลายความเคลื่อนไหว ตั้งแต่การหารือวิป 3 ฝ่ายเมื่อช่วงเช้า ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำ ที่ สว. ยกมาเป็นประเด็นสำคัญว่า ยื่นชื่อนายพิธาซ้ำไม่ได้ การประชุมของพรรคเพื่อไทยเมื่อช่วงบ่ายโมง ว่าจะมีการสำรองชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไว้เลยหรือไม่ หลังจากที่เมื่อวานได้บทสรุปกับพรรคก้าวไกล และการประชุมใน 8 พรรคร่วมว่า จะยังเสนอชื่อคุณพิธาในการโหวตรอบ 2 แต่ถ้าหากถูกสกัดด้วยประเด็นเสนอชื่อซ้ำไม่ได้ เพื่อไทยจะทำอย่างไร นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวในฟากฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม ที่อาจจะมีการเสนอชื่อแคนดิเดต มาชิงตำแหน่งนายกฯ รวมถึงกรณีทนายเดชา ที่ถูก สว.เสรี ฟ้อง ก็ตอบโต้ด้วยการยื่นฟ้องกลับ สว.เสรี ด้วย
วิป 3 ฝ่าย หารือโหวตนายกฯ รอบ 2 เสนอ พิธา ซ้ำได้หรือไม่
เริ่มต้นกันด้วยเรื่องสำคัญกันก่อนว่า พรุ่งนี้การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ในการโหวตนายกฯ รอบที่ 2 จะเป็นอุปสรรคหรือไม่ เพราะหลังการโหวตรอบแรกที่ผ่านมา สว. ที่เสียงดังหลายคน เช่น สว.เสรี สุวรรณภานนท์, สว.สมชาย แสวงการ ให้ความเห็นกับสื่อมวลชนว่า ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ไม่สามารถเสนอญัตติเดิมซ้ำได้ การโหวตรอบ 2 จึงจะไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาได้
ดังนั้น ช่วงสายที่ผ่านมา 10.15 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เรียกประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย หรือวิป 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายวุฒิสภา, ฝ่าย 8 พรรค และฝ่าย 10 พรรค เพื่อหารือถึงกรอบการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นครั้งที่สอง ในวันพรุ่งนี้
ตัวแทนของพรรคเพื่อไทย นำโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ซึ่งได้เดินเข้าห้องประชุม พร้อมกับ นายสมชาย แสวงการ และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สว.ที่เป็นตัวแทนกรรมการประสานงานจากวุฒิสภา ซึ่ง นพ.ชลน่าน บอกว่าบังเอิญเจอกันในลิฟต์ และทักทายกันตามปกติ ไม่มีอะไร
ส่วนพรรคก้าวไกลส่ง นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ มาเป็นตัวแทนการประชุม ซึ่งนายชัยธวัช ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ สว.ยกข้อบังคับที่ 41 การประชุมรัฐสภา ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำได้ว่า ไม่สามารถตีความการเสนอชื่อนายพิธา เป็นญัตติได้ เพราะกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติขั้นตอน และหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจน คล้ายกับการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งบางครั้งก็มีการเสนอชื่อซ้ำได้
ไม่ได้ข้อสรุปเสนอ พิธา ซ้ำ รอชี้ขาดพรุ่งนี้
หลังการประชุม นายวันมูหะนัดนอร์ เปิดเผยว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะสามารถเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐสภาเคยมีมติไม่เห็นชอบนายพิธาไปแล้ว ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นญัตติที่รัฐสภาตีตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกัน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 แต่ก็ยังมีผู้เห็นต่าง ที่เห็นว่าสามารถเสนอชื่อนายพิธาได้ เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ ที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแยกไว้เป็นหมวดการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ ในหมวด 9 และรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามจะเสนอซ้ำไม่ได้
ดังนั้น จึงจะต้องรอการอภิปรายของ สส. ทุกฝ่าย และ สว. ในการประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อฟังข้อมูลอย่างครบถ้วน ก่อนที่ตนเองจะใช้อำนาจชี้ขาดว่า จะสามารถเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำได้หรือไม่ ส่วนจำเป็นจะต้องให้ สส. และ สว. ลงมติเพื่อชี้ขาดร่วมกันหรือไม่นั้น จะต้องรอดูในการประชุมอีกครั้งว่า สส. และ สว. มีความเห็นร่วมกันที่จะให้ประธานวินิจฉัย หรือจะให้มีการลงมติ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังกล่าวถึงข้อเสนอให้มีการงดใช้ข้อบังคับการประชุมที่เกี่ยวข้องว่า จะต้องให้ สส. และ สว.ลงมติให้ความเห็นชอบการงดใช้ข้อบังคับ แต่ในการประชุมร่วมกับพรรคการเมือง และวิป สว. วันนี้ ก็ไม่มีข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้น พร้อมเห็นว่าหากมีการงดเว้นข้อบังคับจริง ก็จะไม่มีแนวทางกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าว ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ส่วนหากที่ประชุมรัฐสภา มีมติร่วมกันแล้ว ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำอีกได้ ที่ประชุมจะสามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นได้ต่อทันทีเลยหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า สามารถทำได้ เพราะข้อบังคับไม่ได้ห้ามไว้ แต่ยังไม่ทราบว่าที่ประชุมรัฐสภา จะเสนอชื่อบุคคลใดต่อ
สว. สมชาย ย้ำ เสนอชื่อ พิธา ซ้ำไม่ได้
นายสมชาย แสวงการ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า สว.เดินตามข้อบังคับข้อที่ 41 ว่าญัตติที่เสนอ เสนอจบไปแล้ว ไปญัตติอื่นที่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ติดใจอะไร เมื่อถามย้ำว่ายืนยันใช่หรือไม่ว่าเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำไม่ได้ นายสมชาย กล่าวว่า สว.มีความเห็นเช่นนั้นว่าญัตติตกไปแล้ว ส่วนในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร และจะมีมติชี้ขาดอย่างไร นายสมชาย กล่าวว่า ต้องไปคุยในที่ประชุมรัฐสภา
มีเสียงนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ต่อประเด็นเดียวกันนี้ หลังออกมาจากห้องประชุมวิป 3 ฝ่ายด้วย
นักวิชาการกฎหมาย ชี้ โหวตนายกฯ ไม่อยู่ใต้ข้อบังคับ 41
ขณะที่มุมมองของอาจารย์ด้านกฎหมายต่อเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ข่าวเย็นประเด็นร้อนว่า การโหวตเลือกนายกฯ ในความหมายอย่างกว้าง เป็นญัตติ เพราะเป็นการเสนอให้ที่ประชุมชี้ขาดทางใดทางหนึ่ง
แต่การที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งจะเป็นญัตติ ต้องดูว่ามีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งการโหวตเลือกนายกฯ นั้น มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 272 กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ทำให้ต่างจากกรณีที่เขียนชัด ๆ ว่าเป็นญัตติ ในความเห็นส่วนตัว การโหวตเลือกนายกฯ จึงไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับที่ประชุมรัฐสภาในข้อ 41 น่าจะมีการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีปัญหาจะต้องตีความข้อบังคับ ข้อบังคับของการประชุมรัฐสภาบอกว่า ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาด ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้น ผลก็จะต้องเป็นไปตามการลงมติในที่ประชุม
ส่วนเรื่องที่ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ สส.ของนายพิธา อาจารย์ณรงค์เดช มองว่าถือเป็นจุดสำคัญ โดยรูปการณ์เป็นไปได้สูงมาก ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องและสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เกณฑ์ง่าย ๆ คือ มีเหตุอันควรสงสัยว่า สส.มีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพตามที่ถูกร้อง ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นการเสนอเรื่องจาก กกต. และ กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ สส. ขาดไป ศาลก็มักจะสั่งตาม กกต. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งแนววินิจฉัยที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น
ส่วนการรับมือการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานมั่นคง ลงนามคำสั่ง คำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบรัฐสภา ตั้งแต่วันนี้ 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 24.00 น.
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35