การถูกกดขี่ในการแสดงออกทางการเมืองผ่านซีรีส์ Queenmaker
ในปี 2023 ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสซีรีส์เกาหลีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อบุคคลในสังคมไทยเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นอำนาจอ่อน (soft power) ทำให้ถูกกล่าวถึงไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางกันในสังคม เช่นเดียวกันกับซีรีส์ Queenmaker หรือ ฉันจะปั้นราชินี เป็นซีรีส์แนวเกมการเมือง ที่มาได้ถูกจังหวะ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศไทยกำลังหาเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างซีรีส์กับสถานการณ์หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆในประเทศไทย
ว่าแต่ละพรรคมีกลยุทธ์ในการหาเสียงให้กับพรรคของตนอย่างไร โดยในซีรีส์ Queenmaker ได้ถ่ายทอดกลยุทธ์การหาเสียงของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีประจำกรุงโซลกันอย่างดุเดือด
“ผู้หญิง” เพศสภาพที่แสดงออกถึงสัญญะเฉพาะตัวบุคคลที่มีมาตั้งแต่กำเนิดเพื่อเป็นตัวกำหนดในการบ่งบอกถึงคำนำหน้านามของคนในสังคม แต่เมื่อเข้าสู่สังคมที่กว้างขึ้นกลายเป็นสังคมได้หยิบยกเอาเพศสภาพมาสร้างข้อจำกัดให้กับการทำงานของหญิงสาวในสังคมเกาหลี เช่นเดียวกันกับ “โอกยองซุก” ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนผู้มีอุดมการณ์อย่างหนักแน่น โดยมีฉายาว่า “เจ้าแรดถึก” คอยเป็นกระบอกเสียงให้กับเหยื่อที่โดนกดขี่ จากความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม และยังเป็นหัวหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสตรี ที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคม โดยภายหลัง “ฮวังโดฮี” ได้เข้ามาสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เหมาะสมกับแคนดิเดตนายกโดยมีความเคียดแค้น จากการที่ลูกน้องของตนโดนกดขี่จากประธานบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังจะลงเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ซึ่งมีภาพลักษณ์สวยหรูปกปิดโดยมีเธอคอยเป็นหมารับใช้ในการปกปิด ความเน่าเฟะที่เกิดจากการกระทำของ ตนและคนภายในครอบครัว กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้ “ฮวังโดฮี” หันมาร่วมมือกับ “โอกยองซุก” เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง คอยผลักดันให้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการอยากเอาชนะกลายเป็นการแสดงละครครั้งใหญ่ โดยที่แคนดิเดตนายกจากทุกพรรคพร้อมที่จะเหยียบย่ำคู่ต่อสู้ได้ทุกเมื่อ หากการทำเช่นนั้นจะนำไปสู่ชัยชนะครั้งสำคัญ
ฉากการดีเบตกันระหว่าง “โอกยองซุก” และแคนดิเดตนายกหญิงของพรรคฝั่งตรงข้าม ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นจุดเปลี่ยนให้ “โอกยองซุก” กล้าออกมาประกาศเสรีภาพของตนโดยการเรียกร้องผ่านการถอด Croset (แผ่นรัดหน้าท้อง) กลางรายการถ่ายทอดสด หลังจากที่เธอได้โดนแคนดิเดตนายกหญิงของพรรคฝั่งตรงข้าม พูดจาเสียดสี และกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริงเพียงหวังให้เธอตอบโต้ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ถูกสร้างภาพลักษณ์ให้กลายเป็นผู้หญิงอ่อนหวาน สุภาพ เรียบร้อย เป็นภาพลักษณ์ของนายกเทศมนตรีที่ประชาชนให้การยอมรับ โดยแตกต่างจากตัวตนของเธออย่างสิ้นเชิง ซึ่งแท้จริงแล้วบุคลิกของเธอเป็นคนพูดจาฉะฉาน ตรงไปตรงมา กล้าลุยกล้าชนได้ทุกสถานการณ์ การที่“โอกยองซุก”กล้าเอาตัวตนของเธอมาประกาศต่อสาธารณะชน เป็นการแสดงออกเชิงสัญญะว่าเธอยอมทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับเกมส์การเมือง ครั้งนี้ แม้จะต้องแลกมาด้วยตัวตนหรือความเป็นส่วนตัว แต่เธอไม่สามารถปิดบังตัวตนที่แท้จริงเพื่อหลอกลวงประชาชนได้ ทำให้กระแสการถอด Croset (แผ่นรัดหน้าท้อง) ถูกกล่าวถึงในสื่อออนไลน์อย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงกล้าที่จะแสดงออกในการเป็นตัวเอง
แม้ว่า “โอกยองซุก” ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นแคนดิเดตนายกแล้ว แต่เธอยังคงทำหน้าที่ “แม่” ได้เป็นอย่างดีโดย ไม่ขาดตกบกพร่องให้กับลูกชายคนเดียวของครอบครัว แต่ไม่วายยังถูกกลั่นแกล้งจากพรรคฝั่งตรงข้ามที่มีพร้อมทั้งชื่อเสียง อำนาจ และอิทธิพล สามารถสั่งการให้ผู้ใต้บังบัญชาทำอย่างไรก็ได้เพื่อแลกกับชัยชนะของตน จึงได้ปล่อย Fake News เพื่อทำลายชื่อเสียงและความนิยมของโอกยองซุกให้ลดลง อีกทั้งยังตัดต่อรูปอนาจารให้ “โอกยองซุก” เกิดความเสียหาย ซึ่งส่งผลเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกปาก โดยไม่คำนึงถึงสภาพจิตใจและภาพลักษณ์ของครอบครัวที่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งลูกชายของโอกยองซุกยังถูกเพื่อน ๆ ในโรงเรียนพูดต่อกันอย่างสนุกปาก จึงทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน ส่งผลให้ข่าวแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ประชาชนได้ออกมาต่อต้านและวิจารณ์เธอว่า “ก่อนที่เธอจะมาเป็นนายกเทศมนตรี เพื่อพัฒนาประเทศและดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เธอควรทำหน้าที่แม่ให้ดีเสียก่อนและดูแลลูกของตนไม่ให้เป็นอันธพาลไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับเพื่อนในโรงเรียน” อีกทั้งยังถูกกดดันให้ลาออกจากการลงเลือกตั้งครั้งนี้
ทำให้เห็นว่าสังคมยังคงตัดสินความสามารถในการทำงานของผู้นำจากเพศสภาพมากกว่าประสิทธิภาพของตัวบุคคล ในการลิดรอนสิทธิของสตรีและจำกัดสิทธิ ในการแสดงออกทางการเมือง เพราะกลัวว่าหากแคนดิเดตนายกเป็น “ผู้หญิง” ควรทำหน้าที่แม่บ้านเพียงอย่างเดียวส่วนการบริหารประเทศปล่อยให้หน้าที่เป็นของผู้ชาย โดยฉากนี้ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาอย่างหลากหลายว่า เป็นผู้หญิงแล้วทำไม ? นายกจะเป็นผู้หญิงไม่ได้หรือ ? ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ และไม่ได้มีกฎหมายข้อไหนตั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการมืองของสตรี นอกจากสังคมที่ทำหน้าที่จำกัดสิทธิผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล สุดท้ายแล้ว “โอกยองซุก” ออกมาเปิดเผยความจริงทั้งหมด แต่กลับไม่มีบุคคลใดที่เคยต่อว่าหรือวิจารณ์เธอได้ออกมาขอโทษ ทั้งที่เรื่องทั้งหมดไม่เป็นความจริง สุดท้าย “โอกยองซุก” ได้รับตำแหน่งนายกเทศมนตรีประจำกรุงโซลผ่านการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส
“สตรี” ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่มักถูกกดดันให้กลายเป็นบุคคลที่ไม่กล้าแสดงออกในการออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ หรือแม้แต่การเป็นตัวเอง จึงมักถูกกดขี่ให้อยู่ภายใต้อำนาจของความเป็นชายอยู่บ่อยครั้ง แต่การกดขี่ที่เลวร้ายที่สุด คือการถูกกดขี่จากสตรีด้วยกันเอง สามารถรับชมความสนุกของซีรีส์ต่อได้ที่ Netflix