logo ข่าวเย็นประเด็นร้อน

เร่งรื้อซาก ! สะพานถล่มย่านลาดกระบัง ด้าน ชัชชาติ เผยถล่มระหว่างดึงลวดอัดแรง

ข่าวเย็นประเด็นร้อน : ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ติดตามเหตุการณ์ใหญ่ ทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มเมื่อช่วงเย็นวานนี้ ซึ่ ช่อง7,ช่อง7HD,CH7,CH7HD,7HD,CH7HDNEWS,ข่าว,ข่าว7,ข่าวช่อง7,ข่าววันนี้,ข่าวใหม่,ข่าวล่าสุด,ข่าวสด,ข่าวเด็ด,ข่าวด่วน,ข่าวร้อน,ข่าวไทย,ข่าวออนไลน์,ข่าวโซเชียล,ข่าวสังคม,ข่าวภูมิภาค,ข่าวเศรษฐกิจ,ข่าวการเมือง,ดูทีวีย้อนหลัง,ดูรายการย้อนหลัง,ดูย้อนหลัง,ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,TERODigital,ข่าวเย็นประเด็นร้อน,สวิตต์ ลีละพงศ์วัฒนา,สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์,เปรมสุดา สันติวัฒนา,ฝนฟ้าอากาศ,ทิน โชคกมลกิจ

341 ครั้ง
|
11 ก.ค. 2566
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ติดตามเหตุการณ์ใหญ่ ทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มเมื่อช่วงเย็นวานนี้ ซึ่งวันนี้ เจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อซากทางยกระดับที่พังลงมา และตรวจสอบสาเหตุของการพังถล่มครั้งนี้
 
รื้อซากทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม
 
นี่เป็นภาพเหตุการณ์ที่ผู้เห็นเหตุการณ์ทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมาระหว่างการก่อสร้าง หน้าบริเวณปั๊ม ปตท.หัวตะเข้ ใกล้ห้างโลตัส ถนนหลวงแพ่ง ขาเข้า แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
 
เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเย็น เวลาประมาณ 18.10 น. โครงเหล็กขนาดใหญ่สีฟ้าล้มทับโครงสร้างสะพาน ทำให้สะพานช่วงด้านหน้าทางเข้าปั๊ม ปตท. หักทิ้งตัวลงด้านล่าง และเสาอีกด้านที่อยู่ใกล้แนวทางออกปั๊มพังถล่มด้วย โครงเหล็กที่พังทลายลงมาไปเกี่ยวสายไฟขาด และปลายโครงเหล็กล้มทับเข้าไปในอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ซึ่งด้านบนเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนชั้นล่างเปิดเป็นร้านซ่อมรถจักรยานยนต์
 
หลังเกิดเหตุประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ พบความเสียหายสะพานทรุดตัวเป็นระยะทางยาวประมาณ 100 เมตร จากนั้นช่วยเหลือผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาล ค้นหาผู้เสียชีวิต ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เกิดเหตุ กระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. สรุปมีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ นายฉัตรชัย ประเสริฐ เป็นวิศวกรของโครงการ ซึ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และ นายอรัญ สังขรักษ์ เป็นคนงานของโครงการ ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนผู้บาดเจ็บมีทั้งหมด 13 ราย
 
เร่งรื้อซากทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม
 
และตั้งแต่ช่วงสายวันนี้ คุณณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อวางแผนรื้อโครงสร้างที่เสียหาย ไม่ให้กระทบกับการจราจรและไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชนในพื้นที่ โดยเตรียมเครื่องจักรเป็นรถเครนขนาด 200 ตัน และ 50 ตัน เพื่อจะมาช่วยในการยกพยุงตัวโครงสร้าง และตัดชิ้นส่วนที่เสียสภาพเพื่อทำการเคลื่อนย้ายออกไป เพราะโครงสร้างมีขนาดใหญ่ประกอบกันขึ้นมา ทำให้มีความยาวและน้ำหนักมาก ยากต่อการเคลื่อนย้าย ซึ่งในการแบ่งออกเป็นชิ้นนั้นจะใช้วิธีการถอดนอตตามโครงสร้างที่ประกอบไว้ แต่หากส่วนไหนถอดไม่ได้หรือถอดยาก ก็จะใช้แก๊สเป่าให้ขาด ซึ่งระหว่างการดำเนินการถอดแบ่งชิ้นส่วน ต้องใช้เครนขนาดใหญ่ยกถ่วง และใช้เครนตัวเล็กพยุงไว้ให้ทำงานได้ปลอดภัย
 
แต่ว่าอุปสรรคสำคัญ คือ เรื่องสภาพพื้นที่ที่มีจำกัด ทำให้การทำงานอาจไม่คล่องตัวเท่าที่ควร และต้องระมัดระวังในจุดที่อยู่ใกล้กับสถานีบริการน้ำมัน โดยต้องมีการวัดแก๊สตลอดเวลา ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงจะสามารถเคลียร์พื้นที่ส่วนที่กีดขวางการจราจรได้ทั้งหมด
 
ชัชชาติ เผยสะพานถล่มระหว่างดึงลวดอัดแรง
 
ต่อมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวถึงสาเหตุว่า ทางยกระดับถล่มลงมาขณะดึงลวดอัดแรง ส่งผลให้โครงเหล็ก ลอนเชอร์ เสียสมดุล และล้มพับทับโครงสร้างสะพานเสียหาย ชิ้นส่วนสะพานกีดขวางการจราจร 2 ช่องทาง คนงานชุดปฏิบัติงานดึงลวดอัดแรง และชุดปฏิบัติงานติดตั้งชิ้นส่วนสะพาน ได้รับบาดเจ็บ 13 คน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน สำหรับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งหมดเป็นคนงานในโครงการก่อสร้าง ประชาชนผู้สัญจรผ่านเส้นทางหรือประชาชนที่มีบ้านเรือนพักอาศัยอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุไม่ได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่ถูกชิ้นส่วนสะพานทับเสียหาย ได้รับรายงานว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสารวิ่งหลบออกมาได้อย่างปลอดภัย
 
หลังเกิดเหตุ กทม. ทำงานเป็นทีมบริหารจัดการได้ดี โดยเริ่มต้นจากการกู้ชีพกู้ภัยไม่ให้มีผู้บาดเจ็บค้างอยู่ใต้ซาก หลังจากนี้ กทม. จะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ตรวจสอบสาเหตุการถล่มของสะพาน
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการขึ้นแบล็กลิสต์บริษัทรับเหมาก่อสร้างในโครงการหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดพลาดหรือเลินเล่อชัดเจน จะดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ระหว่างนี้ได้สั่งระงับการก่อสร้างไว้ก่อน และกำชับว่าระหว่างรื้อถอนโครงสร้างที่พังถล่ม ให้เก็บหลักฐานไปด้วย เพราะจะเห็นร่องรอยทั้งหมด
 
แจงเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้าง
 
ขณะที่ คุณธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา ชี้แจงประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้างว่า ตามสัญญาที่กำหนดในทีโออาร์กำหนดวิธีหล่อในพื้นที่ ซึ่งเป็นวิธีการเก่า มีผลกระทบต่อการจราจร เพราะต้องใช้พื้นที่และใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า ฝ่ายผู้รับเหมาจึงขอเปลี่ยนสัญญา มาเป็นวิธีนำหล่อสำเร็จจากโรงงานมาติดตั้ง ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างที่ใช้กันปกติ ในการประกวดราคา ผู้รับเหมาต้องมีผลงานการดำเนินการโครงการในสะพานเช่นนี้ โดยมีผลงานไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เมื่อผ่านคุณสมบัติแล้วจึงพิจารณาซองราคา นอกจากนี้ ในพื้นที่ก่อสร้างของ กทม. มีวิศวกรคุมงานก่อสร้างในทุกไซต์งาน ไม่ได้ใช้เพียงวิศวกรของฝ่ายผู้รับเหมา สำหรับลอนเชอร์ในโครงการดังกล่าวมี 2 ชุด ล้มไป 1 ชุด แต่ได้สั่งระงับการก่อสร้างไว้จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ รวมถึงมีแผนการก่อสร้างและแผนความปลอดภัยที่รับได้
 
ด้าน คุณทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม. กล่าวว่า เหตุสะพานถล่มทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 13 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นคนงานทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงผู้เสียชีวิตด้วย
 
นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความคืบหน้าของการเร่งกู้ซากโครงสร้างสะพานที่พังถล่มลงมา
 
ขอบคุณภาพจาก : TikTok amulet87, Facebook Chayakon Saardwong
 
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
 
 
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/nCAa7nx5yuU

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง