เช้านี้ที่หมอชิต - แม้คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ที่คุณอภิสิทธิ์ และคุณสุเทพ ฟ้อง คุณธาริต ถึงที่สุดแล้ว แต่คดีนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 99 คน โดยก่อนที่จะมีคำตัดสินออกมา คุณธาริต แถลงข่าวกับสื่อ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงคือ บอกว่ามีการตัดตอนการค้นหาความจริง การล้อมปราบประชาชนครั้งนั้นด้วยการรัฐประหาร นั่นจึงทำให้ประวัติศาสตร์เลือดหน้านี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง วันนี้เราจะมาขยายเรื่องนี้กัน
วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คุณธาริต ตั้งโต๊ะแถลงพร้อมกับญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ขอร้องศาลฎีกาคืนความยุติธรรมให้กับญาติผู้เสียชีวิต 99 คน และผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน พร้อมทั้งเปิดเผยว่า การดำเนินคดีสลายการชุมนุม 99 ศพ เป็นชนวนเหตุหนึ่งของการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 2557
หลังจากเกิดเหตุการสลายชุมนุม ตนยังเป็นอธิบดีดีเอสไอ มีทหารนายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 57 เรียกไปเจรจาไม่ให้ดำเนินคดี 99 ศพ พูดว่า อย่าดำเนินคดี 99 ศพนะ ถ้าไม่ทำตาม อั๊วจะปฏิวัติ และจะโดนย้ายเป็นคนแรก ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น หลังรัฐประหาร ตนและนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ถูกสั่งย้ายจากตำแหน่งเดิม ถูกข่มขู่ครั้งแรกในการทำคดี นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า คดีการเสียชีวิตของ 99 คน ยังเหลืออายุความอีก 7 ปี จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอิสระขึ้นมาแบบระดับ Senior Super Board เพื่อให้ความเป็นธรรมผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด ส่วนเหตุผลที่เพิ่งออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากเห็นว่ากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ที่ให้ความเป็นธรรมได้ ดังนั้น หากถูกตัดสินจำคุกจะไม่ใช่การติดคุกฟรี และจะไม่มีแค่ตนเท่านั้นที่ต้องติดคุก
การรัฐประหารตัดตอนคดีสลายการชุมนุม ปี 2553 ประเด็นนี้มีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน เกี่ยวข้องกับทหารหรือไม่ เรื่องนี้เคยมีการรวบรวมข้อเท็จจริงเอาไว้อย่างเป็นระบบ โดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม กรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือ ศปช. โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานของ ศปช. เคยเขียนบทความ ทหารกับความตายของผู้ชุมนุม เอาไว้ สรุปความได้ว่า เรามักได้เห็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงความวิตกกังวลของกองทัพต่อบทบาทของตนเองในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ไม่น้อย กล่าวคือ แม้ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนว่าในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการระดมกำลังทหารถึง 67,000 นาย ใช้กระสุนจริงไปกว่า 110,000 นัด และกระสุนสไนเปอร์อีกกว่า 2,000 นัด และผู้นำกองทัพก็ไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเลขดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ขณะเดียวกันยังมีความพยายามชี้แจงว่า ผู้เสียชีวิตโดยเฉพาะกรณี 6 ศพ วัดปทุม ที่เสียชีวิตในเขตอภัยทานนั้น เป็นฝีมือของชายชุดดำติดอาวุธ ซึ่งในส่วนนี้ ศปช. ได้นำเสนอข้อมูลโต้แย้ง โดยเฉพาะกรณี 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม หรือการเสียชีวิตในเขตอภัยทาน ซึ่งดูจะสร้างความกังวลให้กับกองทัพมากที่สุด และเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานที่แน่นหนามากที่สุด ทั้งจากคำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จำนวนมาก ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ จึงทำให้ผลการไต่สวนการตายของศาลอาญา วันที่ 6 สิงหาคม 2556 วินิจฉัยว่า กระสุนปืนยิงมาจากทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำสั่งของ ศอฉ. ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ และเห็นว่าการยึดอาวุธในวัดปทุมวนารามหลังเกิดเหตุ ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดอาวุธจริง เพราะหลังจากการตรวจยึดอาวุธ กลับไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการตรวจยึดอาวุธก็ไม่ได้กระทำทันทีหลังเกิดเหตุวันที่ 19 พฤษภาคม
เหตุการณ์นี้มีการสืบหาความจริงคาบเกี่ยวกันใน 2 รัฐบาล คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่สั่งสลายการชุมนุม และรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คุณธาริต เป็นอธิบดีดีเอสไอทั้งสองรัฐบาล โดยหนึ่งในบุคคลที่คุณธาริต ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ช่วงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไปฟังคุณจตุพร ย้อนความทรงจำช่วงเวลานั้นกันหน่อย
ส่วนข้อมูลที่คุณธาริต บอกว่า การดำเนินคดีเอาผิดคนสั่งสลายม็อบเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการรัฐประหารนั้น คุณจตุพร เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ยืนยันว่าได้ยินมานานแล้ว แต่คิดว่ามีหลายเรื่องรวมกัน คดีสลายม็อบก็เป็นชนวนเหตุหนึ่ง
นี่ก็เป็นบางมุมมองจากคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ส่วนจะมีน้ำหนักแค่ไหน คงต้องขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละคน และการรับฟังข้อมูลจากรอบด้านเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม