logo ข่าวเย็นประเด็นร้อน

“ธาริต” ยื่นคำร้อง ! นำคดีเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม

ข่าวเย็นประเด็นร้อน : ข่าวเย็นประเด็นร้อน - เรื่องนี้กำลังพันไปถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ด้วย จากคดีที่ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาที่นายธาริ ช่อง7,ช่อง7HD,CH7,CH7HD,7HD,CH7HDNEWS,ข่าว,ข่าว7,ข่าวช่อง7,ข่าววันนี้,ข่าวใหม่,ข่าวล่าสุด,ข่าวสด,ข่าวเด็ด,ข่าวด่วน,ข่าวร้อน,ข่าวไทย,ข่าวออนไลน์,ข่าวโซเชียล,ข่าวสังคม,ข่าวภูมิภาค,ข่าวเศรษฐกิจ,ข่าวการเมือง,ดูทีวีย้อนหลัง,ดูรายการย้อนหลัง,ดูย้อนหลัง,ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,TERODigital,ข่าวเย็นประเด็นร้อน,สวิตต์ ลีละพงศ์วัฒนา,สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์,เปรมสุดา สันติวัฒนา,ฝนฟ้าอากาศ,ทิน โชคกมลกิจ

436 ครั้ง
|
10 ก.ค. 2566
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - เรื่องนี้กำลังพันไปถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ด้วย จากคดีที่ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เมื่อปี 53 ฟ้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนล่าสุด ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาวันนี้ ซึ่งนายธาริต ก็ได้ยื่นคำร้องขอนำคดีเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยอ้างเหตุผลกลัวคดี 99 ศพจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
ธาริต ยื่นคำร้องนำคดีเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
 
วันนี้ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ผอ.ศอฉ. ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พลตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ และ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4
 
โดยนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพฯ ฟ้องทั้ง 4 คน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง
 
ที่มาที่ไป เพราะว่านายธาริต และพนักงานสอบสวนดีเอสไอในตอนนั้น ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อปี 2553
 
นายธาริต และจำเลยทั้งหมด ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์คือนายอภิสิทธ์ และนายสุเทพ ยื่นอุทธรณ์ ผลปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยทั้ง 4 คน กระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับ ให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ซึ่งจำเลยทั้ง 4 คน ยื่นฎีกา อีกทั้งเมื่อ 24 มีนาคมปีนี้ นายธาริต ได้ถอนคำให้การเดิมจากที่ให้การปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี อีกด้วย
 
เมื่อศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา นายธาริต ไม่ได้ไปศาลตามนัด มีเพียงทนายความไปแสดงใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลพญาไท 2 ว่า นายธาริต มีอาการป่วยบ้านหมุน ไม่สามารถเดินทางไปศาลได้ จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน แต่ว่า ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งใบรับรองแพทย์ ของนายธาริต ให้ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ใบรับรองแพทย์แต่ละครั้งของนายธาริต มีลายเซ็นแพทย์ผู้ตรวจไม่เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ศาลอาญา ไต่สวนแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ และการรักษาอาการป่วยของนายธาริต ว่ามีอาการเจ็บป่วย จนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดว่า ข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่ กระทั่งเมื่อ 3 กรกฎาคม ศาลอาญาส่งผลการไต่สวนให้ศาลฎีกาพิจารณา และเลื่อนนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นวันนี้เวลา 09.00 น.
 
และวันนี้ นายธาริต เดินทางไปศาลอาญา โดยไปถึงเวลา 08.50 น. พร้อมทำเอกสารเเจกนักข่าว ข้อความบางส่วนที่สำคัญ ๆ ในเอกสาร ระบุว่า คำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ศาลอาญาได้นัดอ่านในเช้าวันนี้ จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญมาก 3 ประการ คือ
 
1. จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่านายอภิสิทธิ์ฯ นายสุเทพฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ
 
2. ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับพิพากษาว่าเขาเป็นผู้สมควรตายและ
 
3. นายธาริตฯ กับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
 
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตัวข้าพเจ้าเองกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุด
 
ในเอกสาร นายธาริต กล่าวอ้างว่า ได้รับทราบข้อมูลมาเป็นที่น่าเชื่อว่า ในการทำคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งยังไม่ได้อ่านคำพิพากษา และยังมีข้อโต้แย้งจากจำเลยคือข้าพเจ้าและญาติผู้ตายอยู่นั้น มีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่ง รวมถึงอดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นองค์คณะ และหรือเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษา มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีนายสุเทพฯ โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นหัวหน้า หรือประธานกลุ่ม กปปส. โดยเป็นฝักใฝ่และเป็นฝ่ายเดียวกัน
 
ซึ่งขณะนี้ นายสุเทพฯ กับพวก กปปส. ก็ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าต่อศาลอาญาคดีทุจริตกลางเป็นอีกคดีหนึ่งว่า ที่ข้าพเจ้าดำเนินคดีกับนายสุเทพฯ และกลุ่ม กปปส. จนศาลอาญาลงโทษจำคุกไปมากกว่า 10 คนนั้น เป็นเพราะถูกข้าพเจ้ากลั่นแกล้ง จึงน่าเชื่อว่าการทำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ จะไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรม
 
ฉะนั้นเมื่อ 08.30 น. ของวันนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาศาลฎีกา อีกจำนวนหนึ่ง ที่ได้ร่วมกันทำคำพิพากษา โดยขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกา เพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ข้าพเจ้าพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ฯ นายสุเทพฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้าพเจ้าอย่างแท้จริง
 
อีกด้านหนึ่ง นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เปิดเผยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายธาริต ได้ยื่นคำร้องต่อศาล 3 ฉบับ คือ ขอคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ได้พิจารณาในคดีนี้, ฉบับที่ 2 ขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษา เนื่องจากการยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
 
ตีความประมวลกฎหมายมาตรา 157 และมาตรา 200 ที่ถูกยื่นฟ้องว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งการขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา และฉบับที่ 3 ขอเปลี่ยนคำให้การเดิม จากเดิมที่ให้การรับสารภาพ ขอกลับคำให้การเป็นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเหมือนเดิม
 
ศาลอาญาได้รับคำร้องของจำเลยไว้แล้ว และต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องของจำเลยอีกครั้ง ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร และนัดหมายให้มาฟังคำสั่งของศาลฎีกาที่จะส่งมาให้ศาลอาญาอ่านให้จำเลยฟังเวลา 14.30 น. พร้อมกำชับให้จำเลยมาฟังคำพิพากษาให้ครบทุกคน
 
ผลคดี ธาริต กระทบคดีสลายม็อบ 99 ร่างผู้เสียชีวิต หรือไม่
 
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ในช่วงการสลายม็อบเสื้อแดงเมื่อปี 53 ให้สัมภาษณ์ข่าวเย็นประเด็นร้อนว่า ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ช่วงหลังการสลายม็อบ ตนถูกนายธาริต ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษตอนนั้น ดำเนินคดีก่อการร้าย ถูกยื่นคำร้องถอนประกันทุกสัปดาห์ เข้าออกคุกเป็นว่าเล่น แต่ไม่เคยถือโทษโกรธนายธาริต เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
 
แต่ภายหลังเลือกตั้งปี 54 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ นายธาริต ก็ทำคดีเอาผิดสั่งฆ่าคนเสื้อแดง ซึ่งก็ทำเต็มที่เหมือนกัน มีการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุม ซึ่งไต่สวนไป 20 กว่าราย ศาลชี้ว่าตายเพราะเจ้าหน้าที่ทหาร โดยเหตุการณ์ในช่วงนั้น ตนจำได้ว่า เคยเสนอให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ รับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินคดีคนสั่งสลายม็อบเสื้อแดง แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ บอกว่า รับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ได้ เพราะมีการขู่ว่าหากรับ จะโดนทำรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลที่นายธาริต บอกว่า คดีเอาผิดคนสั่งสลายม็อบเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ตนได้ยินมานานแล้ว และคิดว่ามีหลายเรื่องรวมกัน คดีสลายม็อบก็เป็นชนวนเหตุหนึ่ง
 
นายจตุพร บอกด้วยว่า ส่วนกรณีที่นายธาริต บอกว่า ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษาในทางลบต่อตนเอง จะส่งกระทบต่อคดีเอาผิดผู้สั่งการสลายม็อบจนมีผู้เสียชีวิตนั้น ก็มีส่วนอยู่บ้าง แต่คดีนี้ ศาลอาญาเคยบอกว่า ไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา แต่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องผ่านด่าน ป.ป.ช. ส่งฟ้องต่อศาลฯ แต่เรื่องนี้ไปตันอยู่ที่ ป.ป.ช.
 
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
 
 
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/-YJG6ZapKiw

ข่าวที่เกี่ยวข้อง