เช้านี้ที่หมอชิต - ย้อนกลับไปวันนี้ เมื่อ 91 ปีที่แล้ว 27 มิถุนายน 2475 คือวันประกาศใช้ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม
รัฐธรรมนูญ คือกฎหมายที่อยู่ในฐานะสูงกว่ากฎหมายอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งกฎหมายอื่น ๆ จะมีวิธีการจัดทำ หรือ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ นี่คือกติการ่วมกันของสังคมในรัฐนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สยามปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่ง ย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่วันนี้ เมื่อ 91 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย แต่เป็นฉบับชั่วคราว มีทั้งสิ้น 39 มาตรา มีอายุ 5 เดือน 13 วัน ก่อนจะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม 2475
แต่คำว่า ถาวร อาจไม่มีอยู่จริงสำหรับรัฐธรรมนูญไทย เพราะในเวลาต่อมามีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง สลับกับการลุกฮือประท้วงของประชาชนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ดังเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่นำไปสู่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ที่มีตัวแทนจากประชาชนเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรก
ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งและมีที่มายึดโยงกับประชาชนมากที่สุด ตอนนั้นหลายคนเชื่อว่าการรัฐประหารจะไม่มีอีกแล้วในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ผ่านไปเพียง 9 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกฉีกโดยการรัฐประหารอีกครั้ง ในเดือนกันยายน ปี 2549 แต่ก็ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะในปี 2557 กองทัพและรถถังก็ปรากฏอีกครั้ง ก่อนจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น รวมแล้วจนถึง ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ถือเป็นประเทศที่มีการร่างรัฐธรรมนูญบ่อยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม