เรื่องสำคัญอย่าง "ค่าแรง" นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และในส่วนของ "ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ" คืออะไร ต่างจากค่าแรงขั้นต่ำอย่างไร
คำที่เราได้ยินบ่อยอย่าง "ค่าแรงขั้นต่ำ" เป็นอัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปีจะพิจารณาจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นหลัก เพื่อให้มีความสมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยค่าแรงขั้นต่ำบังคับใช้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเอกชน ไม่รวมภาคการเกษตรและภาครัฐ โดยมีคณะกรรมการค่าจ้างประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ เป็นผู้พิจารณา
ส่วน "ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ" เป็นค่าจ้างสำหรับผู้ทำงานมีฝีมือและมีมาตรฐานงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดขึ้นรองรับในแต่ละสายอาชีพ แต่ละสาขา และแต่ละระดับมาตรฐานฝีมือ ซึ่งต้องเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของกระทรวงแรงงาน นอกจากนั้นค่าจ้างขั้นต่ำจะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละจังหวัดที่ไม่เท่ากัน
ดังนั้น หากเทียบกันระหว่าง "ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ" กับ "ค่าแรงขั้นต่ำ" จะถือว่าค่าจ้างมาตรฐานฝีมือเป็นค่าจ้างที่จ่ายตามทักษะความสามารถ หรือแรงงานกึ่งฝีมือ หรือมีฝีมือตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงานนั่นเอง
กลุ่มสาขาอาชีพที่ได้ค่าจ้างเป็นอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ มีดังนี้
- 440-825 บาท/วัน - สาขาอาชีพภาคบริการ
- 410-660 บาท/วัน - สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
- 440-855 บาท/วัน - สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรม
- 405-685 บาท/วัน - สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง
- 345-825 บาท/วัน - สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์
- 400-540 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- 440-530 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์
- 440-530 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
- 465-605 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี
- 375-550 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
- 495-605 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ
- 410-595 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ
- 470-640 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก
- 405-515 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก
- 350-455 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
- 395-450 บาท/วัน - กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดทำอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง โดยส่งเสริมให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือและได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ผู้สนใจสามารถสมัครและเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้ทั่วประเทศ
ในมุมของลูกจ้าง เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือถือว่าเป็นรายได้ที่ช่วยจุนเจือชีวิตได้ดีกว่ามาก ซึ่งอาจจะต้องฝึกฝนทักษะ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตัวเอง เพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้น และอนาคตที่ดีกว่า
และในมุมของนายจ้าง แน่นอนว่าเมื่อมีการขึ้นค่าแรง ย่อมได้รับผลกระทบเป็นธรรมดา ซึ่งในแต่ละธุรกิจจะมีลักษณะการใช้แรงงานที่ต่างกันไป ดังนั้น นายจ้างแต่ละรายจึงได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากัน แต่หากมีการบังคับปรับเพิ่มค่าแรงแล้ว รัฐบาลในอนาคตควรมีตัวช่วยมารองรับเหล่านายจ้างด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เพื่อชดเชยให้แก่พวกเขาในส่วนที่ต้องเสียไป
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital