เช้านี้ที่หมอชิต - วันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี ตรงกับวันผู้ลี้ภัยโลก มีผู้คนจำนวนมากถูกบีบบังคับให้ออกจากแผ่นดินบ้านเกิด แสวงหาสถานที่แห่งใหม่ที่มอบสิทธิขั้นพื้นฐานให้ คือเสรีภาพ ความปลอดภัย และโอกาสใหม่ของชีวิต
วันผู้ลี้ภัยโลก หรือ world refugee day ตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี สหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น วันผู้ลี้ภัยโลก โดยวันนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2001 ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีวันผู้ลี้ภัยโลกนี้ แต่ละประเทศจะมีวันผู้ลี้ภัยโลกเป็นของตนเอง
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยเกือบ 27.1 ล้านคน และเกือบครึ่งคือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และปัจจุบันยังมีผู้คนอีก 4.6 ล้านคน ที่ยื่นขอลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR
นั่นสะท้อนว่า ในโลกยังมีพื้นที่ไม่ปลอดภัยของมนุษย์ มีผู้คนตกเป็นเป้าของความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง รวมถึงการข่มเหงที่เข้าข่าย ละเมิดสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา เชื้อชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง ถ้าหากคนเหล่านี้ไม่ลี้ภัย อาจต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
และการสู้รบ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เกิดการลี้ภัย ตัวอย่างในประเทศไทย หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 จนถึงปี 2557 ก็เกิดผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมากที่หลบหนีออกนอกประเทศ
และอีกกรณีที่โด่งดังในประเทศไทย คือกรณีการลี้ภัยของ พลตำรวจตรี ปวีณ พงษ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ที่รับหน้าที่ทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งพบว่ามีนายทหารระดับสูงเกี่ยวพัน ก่อนพบว่าตนเองมีการโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรมให้ไปรับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขออุทธรณ์คำสั่ง แต่ไม่เป็นผล จึงรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยอย่างรุนแรง จึงขอลาออกจากราชการและยื่นขอลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2558
วันผู้ลี้ภัยโลก จึงเป็นโอกาสให้ระลึกถึงความเข้มแข็งในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งของผู้ลี้ภัย แม้ต้องสูญเสียทุกอย่าง รวมถึงยังเป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเขาและการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม