เช้านี้ที่หมอชิต - นอกจากโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวังการระบาดกันในช่วงนี้ ยังมีอีกหนึ่งโรคที่น่าเป็นห่วง นั่นก็คือไข้เลือดออก ซึ่งปีนี้ ในไทยเราไข้เลือดออกระบาดหนักสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และในประเทศอาเซียน มีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวนมากด้วย จึงก่อเกิดวันไข้เลือดออกอาเซียนขึ้น ซึ่งก็ตรงกับวันนี้
ทุกวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี ถือว่าเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน เหตุที่ในอาเซียน 10 ประเทศของเรา มีวันไข้เลือดออกร่วมกัน เป็นเพราะว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่อยู่ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ มีประชาชนป่วยเป็นไข้เลือดออกมากที่สุด ดังนั้น ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน เมื่อปี 2553 ทั้ง 10 ประเทศ จึงกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนของแต่ละประเทศตระหนักในการป้องกันโรค และร่วมกันแก้ปัญหา โดยในประเทศไทยเราปีนี้ รณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน ภายใต้แนวคิด ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก
ส่วนสถานการณ์ไข้เลือดออกในบ้านเราปีนี้ ถือว่าน่ากังวล เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่าไข้เลือดออกกำลังระบาดหนักที่สุดในรอบ 3 ปี พบผู้ป่วยมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร ภาคใต้ และภาคกลาง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคมของปีนี้ มีผู้ป่วยมากถึง 18,000 กว่าราย มากกว่าปีที่แล้วถึง 4.2 เท่า มีผู้เสียชีวิต 15 ราย เฉลี่ยแล้วมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย กลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุด คือนักเรียนอายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี
สำหรับการสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน อ่อนเพลีย ซึมลง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น
ส่วนวิธีการป้องกันยุงลาย เช่น เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน โรงเรียน และวัด เช่น ขวด กระป๋อง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม