เช้านี้ที่หมอชิต - ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงว่า การแสดงออกของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำเสนอเรื่องทำประชามติจัดตั้งรัฐปัตตานี ว่าเข้าข่ายเป็นการเรียกร้องให้แบ่งแยกดินแดนหรือไม่นั้น นักวิจัยประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มองว่าทุกฝ่ายอย่าเพิ่งกังวล เพราะเรื่องนี้ยังอยู่ในกรอบของการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่
จากกรณีการจัดงานเปิดตัวองค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ โดยกลุ่มเครือข่าย PerMAS (เปอร์มาส) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ที่เป็นการรวมกลุ่มของนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ งานนี้จัดขึ้นที่อาคารคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
ซึ่งไฮไลต์ของงานที่เป็นประเด็นร้อนแรงให้เกิดข้อถกเถียงมาจนถึงวันนี้คือ ช่วงเสวนาในหัวข้อ การกำหนดอนาคตกับสันติภาพปาตานี ที่มีการเชิญนักวิชาการ กับนักการเมือง มาร่วมเวทีพูดคุย และช่วงหนึ่งมีการนำเสนอเรื่องการทำประชามติเพื่อจัดตั้งรัฐปัตตานี โดยมีใบออกเสียงประชามติที่จัดทำขึ้นมา ถูกแชร์ว่อนโซเชียล ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่มาร่วมงานนี้กำลังเรียกร้องให้มีการแบ่งแยกดินแดนกันหรืออย่างไร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ดอกเตอร์ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์และนักวิจัยประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยกับทีมข่าวเช้านี้ที่หมอชิตว่า เรื่องที่สังคมเป็นห่วงว่าการแสดงออกนี้ เป็นการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ที่ระบุว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ หรือไม่นั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นกัน
โดยมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน
ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะให้ประชาชนสามารถ ใช้สิทธิได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 มาตรา โดยที่ไม่เกิดความขัดแย้งกัน เพราะในพื้นที่ก็เกิดปัญหาความไม่สงบมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งในการเสวนาของนักศึกษา ที่มีการนำเสนอเรื่องประชามติ เป็นเพียงการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำประชามติ ยังไม่ได้เป็นลักษณะของการทำประชามติในตัวของมันเอง และที่ผ่าน ๆ มา ก็มีนักวิจัยทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง
ผู้ช่วยศาสตรจารย์ด็อกเตอร์ ศรีสมภพ มองว่า การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการทำประชามติของนักศึกษากลุ่มนี้ เป็นการแสดงออกที่ยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย และเสียงสะท้อนจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ ก็ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้มีความอ่อนไหวอะไรมากนัก เพราะประชาชนในพื้นที่เข้าใจดีว่า การแสวงหารูปแบบการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ ตามกระบวนการสร้างสันติสุข เป็นเรื่องที่คนในพื้นที่ผ่านการทำความเข้าใจกับเรื่องนี้มามากพอสมควร
ส่วนความเคลื่อนไหวของหน่วยงานความมั่นคง ที่อาจจะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานนี้ ก็อยากฝากว่าควรต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะโดยส่วนตัวมองว่า กิจกรรมนี้ยังไม่ได้กระทบภาพใหญ่ คือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ซึ่งประเด็นรูปแบบการปกครองในพื้นที่ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน ซึ่งผลจากการพูดคุยกันแบบนี้ ก็ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบลดลงไปมากในขณะนี้
นักวิชาการท่านนี้ยืนยันว่า ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าเป็นกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ ต่างคำนึงถึงกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นหลัก ยืนยันว่าการพูดคุยแสดงออกแบบนี้ ดีกว่าการใช้ความรุนแรงเข้ามาแก้ปัญหาอย่างแน่นอน
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม