เรืองไกร เปิดหลักฐานใหม่ เอกสาร พิธา โอนหุ้นสื่อไอทีวี ให้ญาติ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมยืนยันกรณีคลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ตรงกับเอกสารบันทึกการประชุม ไม่ใช่เรื่องใหญ่
เรืองไกร เปิดหลักฐานใหม่ พิธา โอนหุ้นไอทีวี
มากันที่ความเห็นของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีคลิปบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี ซึ่งช่วงถามตอบเกี่ยวกับความเป็นสื่อของไอทีวี ไม่ตรงกับเอกสารรายงานบันทึกการประชุม โดย นายเรืองไกร ยืนยันว่า ไม่กลัวเรื่องถูกฟ้องกลับจากพรรคก้าวไกล โดยหลักการประชุมครั้งต่อไป หากผู้ประชุมที่อัดคลิปเห็นว่าไม่ตรง ก็ต้องขอแก้ไข เพื่อให้ที่ประชุมแก้ไขและรับรองใหม่ ไม่ใช่ไปกล่าวหาว่า จดผิด เพราะมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง
โดยสิ่งที่ปรากฎในคลิป ไม่ใช่เป็นเรื่องคคีพลิก แต่เป็นเรื่องข้อความบางส่วนไม่ตรงกันเท่านั้น และไม่ใช่ประเด็นที่ตนเองนำไปยื่นร้อง ซึ่งเป็นเรื่องบัญชีผู้ถือหุ้น และวัตถุประสงค์บริษัทไอทีวี และหนังสือรับรองของกรมธุรกิจการค้า ส่วนที่มีความพยายามกล่าวหาว่าเป็นขบวนการปลุกผีไอทีวีนั้น ถ้ามีหลักฐาน ก็สามารถนำมาเปิดเผยได้
นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังเปิดเผยหลักฐานใหม่ เป็นเอกสาร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โอนหุ้นไอทีวีให้ญาติ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการโอนหุ้นหลังจากสมัครรับเลือกตั้ง สส. รวมถึงเปิดงบการเงินฉบับย่อของบริษัทไอทีวี และบริษัทย่อย ที่ระบุว่า 24 กุมภาพันธ์ มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เมษายน ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
นายเรืองไกร กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ เพื่อเตือนความจำ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่บอกว่า จำไม่ได้ว่าโอนหุ้นไปเมื่อไหร่ ส่วนเอกสารงบการเงินฉบับย่อ เป็นการบ่งชี้ว่า บริษัทมีการดำเนินธุรกิจสื่อ และเอกสารสำคัญที่ควรดู คือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ไม่ใช่คำถามท้ายรายงานการประชุม ที่มีการนำออกมาเผยแพร่กัน โดยหมายเหตุข้อ 10 ซึ่งออก ณ วันที่ 31 มีนาคม ระบุว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีการทำธุรกิจสื่ออื่นแล้ว ตามที่เขาอธิบายเป็นสื่อมวลชน ไม่ได้กลับมาทำสถานีไอทีวี
ขอย้ำว่า การจะทำสื่อหรือไม่ ต้องดูที่รายได้ ดูวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งศาลไม่ได้ดูที่รายงานผู้ถือหุ้น ที่มีการถามตอบกัน
ส่วนที่ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุด เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ว่า บริษัทไอทีวี ปิดไปแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์ ถือเป็นส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับการที่ นายพิธา ถือหุ้น เพราะกฎหมายห้ามผู้สมัครไม่ให้ถือหุ้นสื่อ ซึ่งนายพิธา มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี 42,000 หุ้น โดยไม่มีการระบุท้ายการถือหุ้นว่า เป็นผู้จัดการมรดก และหมายเหตุงบการเงินปี 2566 ระบุว่า บริษัททำสื่อมวลชนแขนงอื่น นอกจากสถานีไอทีวีแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากหลักฐานถือหุ้นสื่อที่ นายเรืองไกร ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม แล้ว ยังมีชื่อบรรดานักร้อง อีก 2 คน ที่คนในสังคมรู้จักกันดี เช่น นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีการยื่นเรื่องถือหุ้นสื่อของ นายพิธา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม หรือหลังจากนายเรืองไกร ยื่นเรื่องเพียง 2 วัน
ส่วนอีกคนคือ นายศรีสุวรรณ จรรยา ที่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่เจ้าตัวเป็นเลขาธิการฯ เพิ่งถูกยุบนั้น โดย นายศรีสุวรรณ ยื่น กกต. ปมถือหุ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา
จี้สอบหลักฐาน เรืองไกร ยื่นปม พิธา ถือหุ้นสื่อ
ส่วนความเคลื่อนไหวของ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ เดินทางไปยัง กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีคำร้องของ นายเรืองไกร
โดย ทนายอั๋น ระบุว่า นายเรืองไกร มีการนำหลักฐานอ้างว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่ถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง ฉะนั้นการกระทำของ นายเรืองไกร อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 143 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จ ให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่า ผู้สมัครฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย บุคคลดังกล่าวอาจมีความผิด ต้องโทษจำคุกในที่สุด
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35