จากประเด็นดรามาร้อน “ผู้กองแคท” ที่เลื่อน 8 ชั้นยศ ภายในเวลาอันรวดเร็ว ผ่านการอบรมหลักสูตร กอส. จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ว่าหลักสูตรนี้มีไว้เพื่อใคร แล้วตำรวจชั้นผู้น้อยจะมีโอกาสได้เลื่อนยศแบบนี้หรือไม่ ?
วันที่ 9 มิ.ย. 66 พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม เล่าว่า จุดประสงค์ของหลักสูตร กอส. คือให้ทายาทของข้าราชการที่เสียชีวิตในหน้าที่ได้มีโอกาสรับราชการ ค้นหาผู้มีความรู้ในสาขาที่ขาดแคลน และสำหรับผู้ทำประโยชน์ให้ประเทศ เช่น นักกีฬาทีมชาติ แต่โครงการนี้มีหลักเกณฑ์การพิจารณาเปลี่ยนไป จนกลายเป็นระบบอุปถัมภ์ในวงการตำรวจในปัจจุบัน เกิดเป็นปัญหาเด็กฝาก เด็กนาย ลูกท่านหลานเธอขึ้นมา
ด้าน พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตรวจนครบาล เล่าว่า ตนใช้วุฒิปริญญาตรีนิติศาสตร์เข้ามาในหลักสูตร นอร. ซึ่งมีความคล้ายกับ กอส. จบออกมาได้ยศร้อยตำรวจตรี ภายหลังหลักสูตร นอร. ถูกยกเลิกไปแล้วกลายเป็นหลักสูตร กอส. แทน แต่ยังมีหลักสูตรอื่น ๆ อีกที่คัดเลือกคนมาเป็นนักเรียนนายร้อย ไม่ว่าจะเป็น กอน. กอร. กอต. โดยจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
ทั้งสองคนยืนยันว่าหลักสูตร กอส. ไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ที่เข้ามาอบรมหลักสูตรนี้เข้ามาได้อย่างไร กรณีของ “ผู้กองแคท” ที่ใช้วุฒินิเทศศาสตร์เข้ามาในหลักสูตร กอส. คาดว่าเป็นนักประชาสัมพันธ์ ในหน่วยงานที่ขาดโฆษก หรือคนทำงานด้านสื่อ ส่วนคุณลักษณะเฉพาะตัว เช่น ร้องเพลง เป็นนางงาม ไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญในการคัดเลือก แต่ทางตำรวจควรคัดเลือกสาขาวิชาที่ขาดแคลนจริง ๆ เช่น หมอจิตเวช มากกว่าเพื่อแก้ไขปัญหาความเครียดของตำรวจ
ส่วนโอกาสเติบโตของนายตำรวจชั้นผู้น้อย พล.ต.ต. สุพิศาล ย้ำนโยบายของพรรคก้าวไกล มีแนวคิดส่งเสริมตำรวจชั้นประทวนให้สอบแข่งขันเข้าโรงเรียนนายร้อย เพื่อให้กลายเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น พล.ต.ต. วิชัย กล่าวว่ามีวิธีการที่หลากหลายในการเลือกชั้นยศของตำรวจชั้นผู้น้อยได้ มีการเปิดสอบแข่งขันกันแต่การแข่งขันค่อนข้างสูง จึงมีตำรวจเพียงส่วนน้อยที่เจริญก้าวหน้า
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม