เช้านี้ที่หมอชิต - ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยมองว่ากฎหมายเกี่ยวกับเหล้าเบียร์ที่บังคับใช้ในบ้านเรา คือกฎหมายที่มีปัญหา เพราะไม่ได้คิดมาจากพื้นฐานความปกติของสังคม ทั้งในส่วนของการผลิตที่ทำให้เกิดการผูกขาดไม่กี่เจ้า และในส่วนของการควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่สามารถทำอะไรผู้ค้ารายใหญ่ได้ แต่รายเล็กกลับตายเรียบ ส่วนผู้ดื่มเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย
เรามีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้กับ คุณเบนซ์ - ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งเพจประชาชนเบียร์ ผู้ซึ่งสะสมข้อหาโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปทั้งหมด 15 กรรม ค่าปรับกรรมละ 50,000 บาท หากแพ้ คิดเป็นเงินรวมกัน 750,000 บาท นี่คือสิ่งที่คนธรรมดาทั่วไปโดนเพียงเพราะทำเพจพูดถึงเรื่องราวของเหล้าเบียร์ที่เขาดื่ม ดม ชม รส เท่านั้น
คุณเบนซ์ บอกว่า ถ้าบังเอิญฟลุ๊คชนะ ก็มีความหวังจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ เพราะการต่อสู้นี้ไม่ได้เรียกร้องบนฐานกฎหมายเดิมที่มี แต่เป็นการดันเพดานไปทีละเล็กละน้อย การไปชนกับมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะโดนคดี
คุณเบนซ์ ยังบอกอีกว่า การคงอยู่ของกฎหมายแบบนี้กลับยิ่งทำให้ทุนใหญ่ได้ประโยชน์ เพราะเจ้าใหญ่ไม่ต้องพูดว่าเหล้าเบียร์ของเขารสชาติเป็นอย่างไร คนก็รู้อยู่แล้วว่ามีขายที่ไหน ขณะที่เจ้าเล็กการที่จะขายได้ต้องมีเรื่องราว ต้องแนะนำรสชาติ มันขม มันเปรี้ยว หรือพิเศษอย่างไร เพื่อให้คนมาซื้อ แต่แค่เจ้าของโพสต์ถึงแบรนด์ตัวเองจะโดนค่าปรับถึง 500,000 บาท ต่อครั้ง ซึ่งหมายความว่า ผู้ผลิตเล็ก ๆ โดนแค่ครั้งเดียวก็เจ๊งได้เลย หลายเจ้าจึงถอดใจไปจริง ๆ ขณะที่คนทั่วไปถ้าโพสต์ ขั้นต่ำที่โดนหมายเรียกคือ 10,000 บาท สูงสุด 50,000 บาท สิ่งที่ตามมาอาจกลายเป็นช่องทางหาประโยชน์ให้คนบางคน ขณะที่ทุนใหญ่ไม่ได้สะเทือนเลยกับกฎหมายแบบนี้
นอกจากปัญหา ทีมข่าวของเรายังได้พูดคุยกันถึงโอกาสของการผ่านกฎหมายสุราก้าวหน้า เพื่อปลดล็อกการผลิต คุณเบนซ์ ยอมรับว่าเป็นไปได้แน่นอนหากเป็นรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตย เพราะเรื่องนี้เพียงแค่แก้กฎกระทรวงเท่านั้น แต่ถ้าพลิกกลับไปอีกฝั่งคงต้องเอาร่างกฎหมายกลับไปสู้กันในสภาอีกยก ซึ่งในครั้งก่อนแพ้โหวตเพียง 2 เสียง
คุณเบนซ์ บอกด้วยว่า สถานที่ที่เรานัดคุยกันเป็นร้านโชห่วยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชานเมือง นอกจากขายของทั่วไป ยังวางจำหน่ายสุราจากโรงกลั่นชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงเบียร์คราฟต์หลากหลายเจ้าจนเต็มตู้แช่ คุณเบนซ์บอกว่าโมเดลแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับร้านขายของชุมชน เช่นเดียวกับแบรนด์เหล้าเบียร์ที่มีได้ทุกท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นศักยภาพใหม่ ๆ ของพื้นที่ได้ มีตัวอย่างให้เห็นเชิงประจักษ์แล้ว หลังปรากฏการณ์ พิธา Soft Power เพียงแค่พูดถึงเหล้าท้องถิ่น ก็ทำให้โรงเหล้าเหล่านั้นขายหมดเกลี้ยงสต็อกในวันเดียว
คุณเบนซ์ บอกว่า ไม่ใช่เฉพาะแบรนด์ที่คุณพิธาพูดถึงเท่านั้นที่หมดโรง เพราะแบรนด์อื่น ๆ ที่ตนเคยกล่าวถึงในเพจคนก็ถามถึงเข้ามามาก มีอินบ็อกซ์เข้ามาเป็นพันข้อความ เขาอยากซื้อ อยากรู้จัก หลายคนอยากรู้ว่าจังหวัดของเขามีอะไรบ้าง อีกส่วนหนึ่งก็พยายามพรีเซนต์ผลิตภัณฑ์บ้านตัวเอง เป็นความภูมิใจในจังหวัดของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นมานานมาก เราพยายามเชื่อมโยงโชห่วยกับแบรนด์ชุมชนของตัวเอง พอคุณพิธาจุดประเด็นปุ๊บทุกอย่างมันคอมพลีต เชื่อว่าจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ยอดขายทุกแบรนด์รวมกันน่าจะไปถึงหลายสิบล้านแล้ว
คุณเบนซ์ บอกอีกว่า การเติบโตของสุราท้องสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนได้จริง เกิดการจ้างงานขึ้นในชุมชน ไม่ว่าเกษตรกร คนแพ็คกล่อง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการดึงดูดคนให้เข้ามาท่องเที่ยว ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับแบรนด์เหล้าชุมชนของชัยภูมิที่ตนเองเคยเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งถ้าปลดล็อกได้ก็จะขยายไปถึงการผลิตสื่อ คลิปโฆษณา โปสเตอร์สวยๆ มีงานอาร์ตของศิลปินในพื้นที่อยู่บนสลากหรือกล่อง นี่คือสิ่งที่ความฝันอยากเห็นในอนาคต
ขอบคุณภาพจาก : Facebook พรรคก้าวไกล Move Forward Party
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม