อีกเรื่องสำคัญเกี่ยวกับที่ดิน "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" มีกี่รูปแบบ คำนวณอย่างไร สำคัญแค่ไหน ต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ?
"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" เป็นภาษีที่จัดเก็บสำหรับผู้ใช้ประโยชน์บนผืนที่ดิน โดยเจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ ซึ่งรูปแบบการจ่ายขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินว่าใช้ประโยชน์ในกรณีใด และในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. ใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีอัตราเพดาน 0.15% โดยเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีต่อเมื่อที่ดินนั้นมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินเริ่มต้น 0-75 ล้านบาท จะมีอัตราจัดเก็บ 0.01% ไปจนถึงมูลค่าทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะมีอัตราจัดเก็บ 0.1%
2. ใช้ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย มีอัตราเพดาน 0.30% ซึ่งหากเป็น "บ้านหลังหลักรวมที่ดิน" มีมูลค่าเริ่มต้น 50-75 ล้านบาท จะมีอัตราจัดเก็บ 0.03% ไปจนถึงมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป จะมีอัตราจัดเก็บ 0.10% หรือหากมีเฉพาะ "บ้านหลังหลัก" มูลค่าเริ่มต้น 10-50 ล้านบาท จะมีอัตราจัดเก็บ 0.02% ไปจนถึงมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป จะมีอัตราจัดเก็บ 0.10% และหากมี "บ้านหลังอื่น ๆ" มูลค่าเริ่มต้น 0-10 ล้านบาท จะมีอัตราจัดเก็บ 0.02% ไปจนถึงมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป จะมีอัตราจัดเก็บ 0.10%
3. ใช้ประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม หรือพูดง่าย ๆ คือ "ใช้ประโยชน์เพื่อการค้า" มีอัตราเพดาน 1.20% โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์เริ่มต้น 0-50 ล้านบาท จะมีอัตราจัดเก็บ 0.30% ไปจนถึงมูลค่าหลักทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะมีอัตราจัดเก็บ 0.70%
4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เป็นกลุ่มที่เสียภาษีมากที่สุด เนื่องจากไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ เกิดขึ้น จึงเพิ่มอัตรา 0.30% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3% โดยที่ดินที่มีมูลค่าเริ่มต้น 0-50 ล้านบาท จะมีอัตราจัดเก็บ 0.30% ไปจนถึงที่ดินที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะมีอัตราจัดเก็บ 0.70%
วิธีคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีสูตรคำนวณ คือ
มูลค่าของฐานภาษี x อัตราภาษี = ค่าภาษีที่ต้องจ่าย
* โดย มูลค่าของฐานภาษี คือ มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมิน - มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับการยกเว้น
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่ประเมินและจัดเก็บโดยองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งหากมีการประเมินแล้วข้อมูลไม่ถูกต้อง ผู้เสียภาษีมีสิทธิโต้แย้งได้ และในปี 2566 รัฐบาลยังคงประกาศส่วนลดอีก 15% จากค่าภาษีที่คำนวณได้ นอกจากนั้นยังขยายเวลาเสียภาษีต่อไปถึง 30 มิถุนายน 2566 หรือหากยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้เสียภาษี ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขต หรือหน่วยงานส่วนท้องถิ่นได้ทันที
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital