โผล่อีก สติกเกอร์ ส่วยหวย ปธ.ชมรมผู้ค้าสลากฯ ยันมีมานานแล้ว รับไม่มีอยู่ไม่ได้ แฉไม่ได้มีแค่ตำรวจที่รับส่วย กองสลากฯก็มี
logo ข่าวอัพเดท

โผล่อีก สติกเกอร์ ส่วยหวย ปธ.ชมรมผู้ค้าสลากฯ ยันมีมานานแล้ว รับไม่มีอยู่ไม่ได้ แฉไม่ได้มีแค่ตำรวจที่รับส่วย กองสลากฯก็มี

ข่าวอัพเดท : ปธ.ชมรมผู้ค้าสลากฯ ยัน ส่วยหวย มีมานานแล้วเพราะหวยแพงตั้งแต่ต้นทาง รับไม่มีสติกเกอร์อยู่ไม่ได้ ลั่น ไม่ได้มีแค่ตำรวจที่รับส่วย กองสล กองสลาก,สลากกินแบ่งรัฐบาล,สติกเกอร์,ส่วยหวย,ตำรวจ,ขายเกินราคา,ลอตเตอรี

486 ครั้ง
|
01 มิ.ย. 2566
      ปธ.ชมรมผู้ค้าสลากฯ ยัน ส่วยหวย มีมานานแล้วเพราะหวยแพงตั้งแต่ต้นทาง รับไม่มีสติกเกอร์อยู่ไม่ได้ ลั่น ไม่ได้มีแค่ตำรวจที่รับส่วย กองสลากฯก็มี
 
       จากกรณีที่ ผู้ค้าลอตเตอรรีรายหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ได้ออกมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สติกเกอร์ส่วยหวยที่ตนและเพื่อนผู้ค้าลอตเตอรีติดไว้ที่แผงหวย มีการจ่ายส่วยให้ตำรวจจริง เดือนละ 500 บาทต่อแผง ทั้งมาเก็บเงินเอง และโอนเงินไปให้ ซึ่งจะสามารถขายลอตเตอรีเกินราคาได้เฉพาะในพื้นที่ของตนเองเท่าน้้น หากไปขายที่อื่นก็จะโดนจับอีก เพราะคนที่ขายลอตเตอรีด้วยกัน ในพื้นที่อื่นๆ ก็จะแจ้งให้ตำรวจมาจับ เพราะขายข้ามเขต และแต่ละพื้นที่สติกเกอร์ก็จะไม่เหมือนกัน โดยช่วงนี้กระแสส่วยรถบรรทุกค่อนข้างมาแรง จึงทำให้ส่วยหวยได้รับผลกระทบไปด้วย
 
         ผู้ค้าลอตเตอรีรายนี้ยังบอกอีกว่า ส่วนใหญ่ที่มาล่อซื้อลอตเตอรีเกินราคา จะเป็นตำรวจที่อื่น ไม่ใช่ในพื้นที่ หากโดนจับก็จะเสียค่าปรับ ครั้งละ 5,000 บาท ผู้ค้าลอตเตอรีจึงจำเป็นต้องจ่ายส่วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการขาย แต่ถึงแม้จ่ายส่วยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่โดนจับเสมอไป 
 
        ซึ่งหากรัฐบาลชุดใหม่จะจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และไม่เป็นช่องทางการเก็บส่วยหวยของเจ้าหน้าที่บางคน ให้เกิดความเดือดร้อนกับคนขาย และตำรวจบางรายก็อ้างว่า นายมาใหม่ ต้องขอเก็บค่าส่วยหวยเพิ่มขี้นก็มี 
 
        ล่าสุด นายสำอางค์ ซ่อนกลิ่น ประธานชมรมผู้ค้าสลากรากหญ้าทั่วไทย เปิดเผยกับ ‘ข่าวสดออนไลน์’ ว่า ตนมองว่าเรื่องส่วยลอตเตอรี่นั้นมีมานานมากแล้วราว ๆ 20 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการขายลอตเตอรี่เกินราคา เป็นเรื่องของการเอาตัวรอดของผู้ค้าลอตเตอรี่และเจ้าหน้าที่มากกว่า ซึ่งต้นตอของเรื่องนี้มาจากที่รับลอตเตอรี่มาจากต้นทางก็เกิน 80 บาทแล้ว ทำให้ต้องขายเกินราคา ผู้ค้าถูกกดให้อยู่กับคำว่า 80 บาทมาอย่างยาวนาน
 
          นายสำอางค์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกกดดันว่า ทำไมถึงไม่จัดการปัญหาการขายลอตเตอรี่เกินราคา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจจับ และเปรียบเทียบปรับตั้งแต่ 2,000-5,000 บาท ทำให้ผู้ค้าโอดครวญกันอย่างหนักว่าหากถูกจับปรับก็แทบไม่เหลือกำไรเลย หาเลี้ยงครอบครัวก็ไม่พอ จึงมีเจ้าหน้าที่บางส่วนมาเจรจาต่อรองให้จ่ายเป็นรายเดือนแทน เดือนละ 500-1,000 บาท และจะไม่ตรวจจับ พร้อมกับช่วยดูแลทั้งเดือน ขายกันได้แบบสบายใจ ที่ตนเจอมากับตัวนั้น เจ้าหน้าที่จะมาในลักษณะการขอความร่วมมือ ขอความเห็นใจซึ่งกันและกัน เพราะเจ้าหน้าที่เองไม่อยากทำร้ายผู้ค้าเช่นเดียวกัน เข้าใจว่าหากถูกจับก็เดือดร้อนกันหมด แต่หากเจ้าหน้าที่ไม่จับก็เหมือนเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีผลงานส่งนาย จึงเหมือนเป็นการพูดคุยกันมากกว่า
 
          นายสำอางค์ กล่าวด้วยว่า แต่ตนก็เคยได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกว่าในบางพื้นที่นั้นมาในเชิงลักษณะข่มขู่ เนื่องจากว่าสำหรับบางคนนั้นเงิน 500-1,000 บาท มีความหมายสำหรับเขามาก เพราะขายได้ไม่เยอะ อีกทั้งกำไรที่ได้ก็น้อย แล้วยังต้องมาเสียในส่วนนี้อีก ซึ่งถ้าหากว่าไม่ยอมจ่ายก็ถูกจับปรับ และต้องจ่ายแพงกว่าเดิม ขณะเดียวกันสำหรับผู้ค้าคนใดที่มีโควตาจำนวนเยอะ ก็อาจต้องจ่ายรายเดือนมากกว่านั้น พุ่งไปถึง 2,000 บาทก็มี และหากเป็นแผงใหญ่จ่ายเดือนละ 8,000 บาทก็มี จึงมีการร้องเรียนเข้ามาที่ตนค่อนข้างมาก แต่ต้องยอมรับว่าตนไม่มีอำนาจในส่วนนี้ และเก็บเรื่องนี้มานานพอสมควร
 
         นายสำอางค์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับสติกเกอร์ ‘SSK pass’ ไม่ได้มีเพียงแค่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเท่านั้น ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลก็มีเช่นเดียวกัน และอาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากแผงใหญ่ มูลค่าเยอะ การดูแลก็ต้องแพงกว่าปกติ จึงจำเป็นจะต้องมีสติกเกอร์ เพราะมีหน่วยงานย่อย ๆ หลายหน่วยงานและอาจเกิดการจับซ้ำซ้อน สุดท้ายคนเดือดร้อนก็คือผู้ค้าลอตเตอรี่
 
       นายสำอางค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีสัญลักษณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่ได้แค่ส่วยตำรวจเท่านั้น แต่ยังมีส่วยของส่วนกลางสำนักงานกองสลากฯอีกด้วย แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ถ้าหากว่าส่วนกลางสำนักงานกองสลากฯเห็นสัญลักษณ์หรือสติกเกอร์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อาจจะไม่ตรวจจับ เพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่ในท้องที่เข้ามาเคลียร์แล้ว
 
       ประธานชมรมผู้ค้าสลากฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากถูกส่วนกลางของสำนักงานกองสลากฯ จับนั้น จะถูกตัดสิทธิผู้ค้ารายนั้นไปเลย และไม่สามารถทำมาหากินได้อีก ซึ่งเคยมีคนถูกส่วนกลางสำนักงานกองสลากฯจับแล้ว แต่นาน ๆ ครั้ง ส่วนมากผู้ค้ารายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในพื้นที่จะโดน จึงเหมือนเป็นการบังคับให้ต้องมีสติกเกอร์เพื่อเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ ขณะเดียวกันบางพื้นที่ก็ไม่ได้มีการเก็บส่วยลอตเตอรี่ เนื่องจากเห็นใจคนทำมาหากิน อาจจะใช้วิธีการขอความร่วมมือช่วยงานบุญงานกุศลแทน
 
          ส่วนลักษณะของสติกเกอร์นั้น ไม่ได้มีเพียงแต่ ‘SSK pass’ เท่านั้น ขึ้นอยู่กับผู้ดูแลหรือนายที่ดูแลในท้องที่นั้น ๆ หากมีการเปลี่ยนแปลง สติกเกอร์เหล่านี้ก็ถูกเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งสติกเกอร์นี้มีอายุตลอดช่วงวาระของการดูแลท้องที่นั้น ๆ สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาส่วยลอตเตอรี่หนัก ๆ เลยคือพื้นที่ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะ ๆ อาทิ วัดแห่งหนึ่งในจ.สมุทรสงคราม
 
        อย่างไรก็ตาม ตนคงไม่กล้าร้องเรียนในเรื่องนี้ เพราะหากร้องเรียนไป แล้วเจ้าหน้าที่มาเข้มงวดกับสมาชิก มันจะกลายเป็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งนี้ ตนก็คอยจับตาดูอยู่ตลอดว่ามีใครมารังแกผู้ค้าหรือไม่ แต่ใจตนเองจริง ๆ อยากให้กองสลากฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎหมาย และปรับราคาขายให้ผู้ค้าอยู่ได้ ผู้ซื้อยอมรับได้ และให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ปัจจุบันค่าครองชีพพุ่งสูงมาก แต่ยังให้ขายสลากฯ ใบละ 80 บาท ได้กำไร 9 บาทต่อใบก็ไม่ไหว
 
           นายสำอางค์ กล่าวต่อว่า สุดท้ายนี้ตนอยากฝากไปถึงสำนักงานกองสลากฯ ให้ปรับการบริหารจัดการเพื่อช่วยผู้ค้าและผู้บริโภคแบบวิน-วิน และอยากให้จัดการเรื่องหวยทิพย์ เนื่องจากยังเกลื่อนประเทศอยู่ อีกทั้งเงินก็ไม่ได้เข้ารัฐเลย ไปดูแลในส่วนนั้นก่อนดีกว่า