เช้านี้ที่หมอชิต - หลัง วิโรจน์ แฉส่วยรถบรรทุก อาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลว่า การจ่ายส่วยไม่ได้มีเฉพาะวงการรถบรรทุกเท่านั้น แต่ยังมีส่วยชายแดนด้วย มีสติกเกอร์ มีสลิปใบเสร็จสารพัดชนิดเหมือนกัน ถ้าคุณวิโรจน์ อยากรู้รายละเอียดเพิ่ม ให้อ่านงานวิจัยส่วยชายแดน
นี่ก็คือหนังสือส่วยชายแดนที่มาจากงานวิจัยของอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ส่งรูปตัวอย่างสัญลักษณ์มาให้ทีมข่าวดู สัญลักษณ์ดูพิศดารจริงดังที่อาจารย์บอก มีตั้งแต่เสือ แอปเปิล วัว รูปนก หรือ Sorry ที่ไม่รู้ Sorry อะไร ส่วน คุณวิโรจน์ เห็นหนังสือและข้อความจากอาจารย์จึงบอกว่า รับทราบครับอาจารย์ สั่งซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ ป้ายต่อไปหลังส่วยรถบรรทุก ไม่รู้จะตามไปทลายส่วยชายแดนต่อหรือไม่ต้องติดตาม
ส่วยชายแดนเป็นอย่างไร อาจารย์ปิ่นแก้ว ขยายความให้เราฟังว่า มีตั้งแต่ระดับจ่ายหน่วยงานไปจนถึงหมู่บ้าน แล้วแต่จะออกเพื่อใช้หาประโยชน์จากผู้ประกอบการและแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาค้าแรงงานในไทย เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน สร้างอำนาจพิเศษบางอย่างให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น แต่ที่แย่ไปกว่าส่วยยังมีเรื่องของการรีดไถ ขณะที่เจ้าหน้าที่เล็ก ๆ รวยระดับใช้เงินล้านซื้อตำแหน่งเพื่อมาที่นี่ แต่คนที่ถูกเรียกเงินก็คือคนที่มาใช้แรงงานหาโอกาสจากเงินค่าแรงที่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก
อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า เมืองชายแดนในปัจจุบันไม่ใช่เมืองทางความมั่นคงอีกแล้ว แต่คือเมืองชายแดนทางการค้าหรืออุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแรงงานข้ามชาติ ประเด็นคือรัฐมีความพยายามเข้าไปจัดการแรงงานข้ามชาติเพื่อคุมไม่ให้เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่และสามารถระบุตัวตนได้เมื่อถูกตรวจสอบ แต่ระบบขาดประสิทธิภาพอย่างมาก จึงเกิดระบบส่วยขึ้น ด้วยการเสนอตัวเข้าไปขอดูแล แน่นอนว่า ทุกธุรกิจไม่มีใครอยากจ่ายส่วย แต่ไม่จ่ายก็จะโดนตรวจหรือสร้างความยุ่งยาก ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจึงเลือกจ่าย
อีกประเด็นที่ซับซ้อนขึ้นมาก็คือ บางคนเข้ามาอยู่ไทยนานแล้ว ไม่มีใครอยากเป็นกรรมกรเป็นแม่บ้านไปทั้งชีวิต ก็ต้องการขยับฐานะ เช่น เป็นพ่อค้าแม่ค้า ดังนั้น หากไปดูในตลาดชายแดนกว่า 3 ใน 4 ไม่ใช่คนไทยเพราะกฎหมายไม่อนุญาต แต่นี่ก็คือที่มาของสติกเกอร์หรือสลิปแบบที่ออกให้ เสือ แอปเปิล วัว รูปนก หรืออื่น ๆ เพื่อแสดงสัญลักษณ์พิเศษไว้ว่าจ่ายส่วยให้ใครไว้แล้ว เพื่อให้หน่วยงานกันเองรู้ ไม่เก็บทับกัน
อาจารย์ปิ่นแก้ว ยังได้เสนอทางออกในเรื่องนี้ไว้ด้วย ตั้งแต่การลงทะเบียนต่ออายุแรงงานข้ามชาติที่ควรเป็นออนไลน์เหมือนที่สากลใช้ ไม่ใช่ทำได้ปีละครั้งจนเปิดช่องให้มีปัญหาสถานะทั้งต่อตัวแรงงานและผู้ประกอบการ รวมถึงเรื่องทัศนคติ รัฐต้องเข้าใจความเป็นจริง มีความเป็นมนุษย์ และการให้สถานะไม่ต่างจากแรงงานไทย เช่น สิทธิการรวมเป็นสหภาพเพื่อให้มีอำนาจที่ต่อรองได้มากขึ้น
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม