วันนี้จะมาคุยเรื่องเกี่ยวกับมรดก ในกรณีที่พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว และมีหนี้สินอยู่ หนี้สินเหล่านี้จะตกทอดไปถึงรุ่นลูกหรือไม่ ?
คนเราเมื่อได้ยินคำว่า "มรดก" ก็จะนึกถึงแต่เรื่องดี ๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกันก่อน เพราะคำว่า "มรดก" จะนับรวมทั้งหมด ทั้งในส่วน "ทรัพย์สิน" และ "หนี้สิน" ดังนั้น ผู้รับมรดกจึงต้องทราบรายละเอียดทั้งหมดว่ามีทรัพย์สินหรือหนี้สินอย่างไรบ้าง
ในส่วนของทายาทผู้รับมรดก หรือ "ทายาทโดยธรรม" หรือก็คือ ผู้รับมรดกตามกฎหมาย หากผู้ตายไม่ได้เขียนพินัยกรรมเอาไว้ จะแบ่งสิทธิ์ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
1. ผู้สืบสันดาน หรือ ลูก
2. บิดา-มารดา
3. พี่/น้อง ร่วม บิดา-มารดา เดียวกัน
4. พี่/น้อง ร่วมบิดา หรือมารดา เดียวกัน
5. ปู่ ยา ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา
แต่หากผู้ตายเขียนพินัยกรรมเอาไว้ จะต้องดูเจตจำนงตามพินัยกรรมของผู้ตายด้วย และหากวันหนึ่ง พ่อ-แม่ เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งตัวเราเป็นผู้รับมรดก แล้วมีจดหมายทวงหนี้ส่งมาที่บ้าน จะมีวิธีรับมือกับหนี้สินเหล่านั้นอย่างไร ?
ในกรณีที่มีจดหมายทวงหนี้ ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า การทวงหนี้ต่าง ๆ ที่เกิดจากกองมรดก จะต้องทวงภายใน 1 ปีหลังจากที่เสียชีวิต หากเกินจากระยะเวลานั้น จะถือว่า "ไม่ต้องใช้หนี้มรดก" แต่ทั้งนี้ ควรดูรายละเอียด ทรัพย์สิน-หนี้สิน ให้ดีก่อน เพื่อประเมินให้ชัดเจน เพราะอาจมีทางออกที่ดีกว่า ตามกรณีตัวอย่าง ต่อไปนี้
กรณีที่ 1 "หนี้สิน น้อยกว่า ทรัพย์สิน" เช่น มีทรัพย์สิน 3 ล้าน มีหนี้สิน 1 ล้าน ควรนำทรัพย์สินไปจ่ายหนี้สินทั้งหมด และทรัพย์สินส่วนต่างค่อยส่งต่อให้ทายาท
กรณีที่ 2 "หนี้สิน เท่ากับ ทรัพย์สิน" เช่น มีทรัพย์สิน 3 ล้าน มีหนี้สิน 3 ล้าน ควรนำทรัพย์สินไปจ่ายหนี้สินทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นภาระลูกหลาน
กรณีที่ 3 "หนี้สิน มากกว่า ทรัพย์สิน" เช่น มีทรัพย์สิน 1 ล้าน มีหนี้สิน 3 ล้าน ควรนำทรัพย์สินไปจ่ายหนี้สินเท่าที่จ่ายได้ โดยหนี้สินส่วนที่เหลือทายาทไม่ต้องรับผิดชอบ
เรื่องการจัดการภาระหนี้สิน เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ทราบวิธี จึงทำให้เกิดความกังวล บางคนพยายามหาทางออกด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระลูกหลาน แต่หากทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ก็สามารถหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับครอบครัวได้ดีกว่าด้วย
อีกกรณีหนึ่ง คือ พ่อ-แม่ ติดหนี้สถาบันการเงิน แล้วสถาบันการเงินเรียกให้ไป "เซ็นรับสภาพหนี้" ซึ่งแตกต่างจากทั้ง 3 กรณีที่กล่าวไป เพราะหากเซ็นรับสภาพหนี้แล้ว จะไม่เข้าเงื่อนไขทั้งหมด โดยผู้รับมรดกต้องรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดแทน ดังนั้น แนะนำว่าอย่าเซ็นรับสภาพหนี้ คุณพ่อ-คุณแม่ ควรหาทางออกด้วยวิธีอื่นแทน เช่น เจรจา ปรับหนี้สั้นเป็นหนี้ยาว รีไฟแนนซ์ หรือวิธีการอื่น ๆ
คำถามต่อมา การเซ็นรับสภาพหนี้ มีกฎหมายบังคับหรือไม่ ? ตอบได้ว่า "ต่อให้ไม่เซ็น ก็ไม่มีความผิด" แต่ธนาคารอาจใช้วิธีบังคับ เช่น การฟ้องร้อง จึงอยากให้เริ่มต้นด้วยการตั้งสติ และหาวิธีอื่นเข้าช่วย เช่น ประเมินทรัพย์สินที่มี ยกตัวอย่างการนำบ้าน หรือที่ดิน ที่ค้างหนี้อยู่ไปขายทอดตลาด ซึ่งอาจมีเงินส่วนต่างที่ใช้ปิดหนี้ทั้งหมดได้ จากนั้นค่อยเริ่มชีวิตใหม่ที่ไร้หนี้ ยังดีเสียกว่าแบกยาวต่อไปอีกเรื่อย ๆ หลาย ๆ ปี
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35
และรับชมออนไลน์ ผ่าน YouTube: TERO Digital ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.35 น.