นักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน เรียกรถแท็กซี่จาก อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ให้ไปส่งที่ MRT บางโพ โดยระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ไปดูกันว่าโชเฟอร์แท็กซี่รายนี้จะเรียกเงินผู้โดยสารคนนี้เท่าไหร่
คลิปนี้เพจเพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น part 6 ลงไว้ พร้อมระบุข้อความว่า “จากอิมแพคไป MRT บางโพ 2,000 คลิปสั้นๆ แต่ชัดเจน” โดยในคลิปเป็นชายชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย กำลังเรียกรถแท็กซี่ แต่กลับเจอราคาเหมา ซึ่งภายในคลิปต่างมีคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ถึงราคาที่แพงเกินจริง รวมถึงท่านั่ง และการแต่งตัวของโชเฟอร์แท็กซี่ด้วย
งานนี้ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกันอย่างมาก ส่วนใหญ่ต่างสงสัยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการดูแลเรื่องนี้กลับปล่อยให้บรรดาแท็กซี่เหล่านี้กระทำผิดอยู่ได้ ทั้งที่หลักฐานก็มีอยู่ให้เต็มไปหมด พร้อมเรียกร้องให้ใครก็ได้ช่วยจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที
ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 พ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ถ.ป็อปปูล่า ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อสอบถามกรณีดังกล่าว ไม่เจอพบกับโชเฟอร์แท็กซี่ที่อยู่ในคลิป ทีมข่าวเราจึงได้ไปสอบถามกับเพื่อนรวมอาชีพที่ขับรถแท็กซี่อยู่บริเวณนั้น
ได้พบกับนายวีระ คณาดี อายุ 65 ปี โชเฟอร์แท็กซี่ กล่าวว่า การขับแท็กซี่หากเป็น Grab จะมีราคาเหมาตามหน้าแอปฯ แต่ถ้าแท็กซี่ทั่วไปไม่มีการเหมาจ่าย ใกล้หรือไกลต้องกดมิเตอร์อย่างเดียว เพราะผิดกฎหมาย ยกเว้นออกนอกปริมณฑลจะมีราคาเหมา ปกติแล้วจากเมืองทองไป MRT บางโพ ประมาณร้อยกว่าบาทแค่นั้น ไปเรียก 2,000 บาท มันไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย คนทำมาหากินสุจริตอย่างตนก็อาจจะโดนเหมาไปด้วย ต่อให้จะเป็นแท็กซี่ส่วนบุคคลแต่การแต่งกายต้องถูกต้องตามกฎหมาย มันมียูนิฟอร์มของโชเฟอร์แท็กซี่ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเจอสั่งปรับได้ ตนก็เคยโดนปรับมาแล้ว ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายดีที่สุด
หากทำผิดกฎหมายขนส่งก็จะมีขั้นตอนในการลงโทษ เช่น ทำผิดแรก ๆ คือโดนปรับ ทำบ่อย ๆ ก็จะโดนเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ไม่สามารถขับรถแท็กซี่ต่อได้
ล่าสุดวันนี้ กรมการขนส่งทางบก โดยกองตรวจการขนส่งทางบก ได้เรียกผู้ขับรถคันดังกล่าวคือ นายกิตติพงษ์ พวงแก้ว ซึ่งเป็นผู้ขับรถในวันเวลาดังกล่าว มาสอบสวนข้อเท็จจริงโดยนายกิตติพงษ์ฯ ให้การยอมรับว่าได้เรียกเหมาค่าโดยสารจริงตามที่ได้มีเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์
ทางกรมการขนส่งทางบกพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ขับรถมีความผิดฐาน ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร และการแต่งกายไม่ถูกต้อง จึงได้ลงโทษเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับรถเป็นเวลา 90 วัน พร้อมทั้ง บันทึกประวัติการกระทำความผิดไว้ในระบบ หากพบว่ามีการกระทำความผิดซ้ำจะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป