“เรืองไกร” ยังไม่จบ บุกยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต.กรณีการถือครอบครองหุ้นของ “พิธา” เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
“เรืองไกร” บี้ปมถือหุ้น “พิธา” - ร้องยุบ 8 พรรค
วันนี้ (24 พ.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ขณะที่รับสมัครเลือกตั้งเป็น สส.และยินยอมให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่
นายเรืองไกร ระบุว่า เอกสารข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไอทีวี ปี 2549 มีชื่อนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดาของนายพิธา ถือหุ้นจำนวน 12,000 หุ้น จากนั้นปี 2550 ถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น และนับตั้งแต่ปี 2551-2566 มีชื่อนายพิธา ถือหุ้นจำนวนดังกล่าวแทน และแจ้งที่อยู่ในการถือหุ้นแตกต่างกัน 3 ครั้ง ซึ่งการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ ทำให้เชื่อได้ว่า นายพิธา รู้หรือควรรู้ เรื่องการถือหุ้น ที่อาจมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังยื่นขอยุบ 8 พรรคการเมือง ที่มีการลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล โดยมองว่า อาจขัดมาตรา 28 ของกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งมาตรา 28 ระบุว่า ห้ามพรรคการเมืองกระทำการให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรับเงื่อนไข แต่เมื่อมีการทำ MOU กัน ถือว่าเป็นการรับเงื่อนไขระหว่างพรรคกันแล้ว แต่ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง รับรองความเป็น สส.ของนายพิธา ทาง สส. และ สว. สามารถร้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อให้ตรวจสอบสมาชิกภาพได้ เหมือนกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“แพทองธาร” ไม่สน “เรืองไกร” ยื่นยุบพรรค
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายเรืองไกร ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอยุบพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า “ถ้าเขาจะยุบพรรคการเมืองหรือ ก็ให้เขาว่ากันไป”
“เศรษฐา” ระบุยังไม่มีคนทาบทามตำแหน่งทางการเมือง
ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกคน ของพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ตอนนี้ยังไม่มีพรรคใด หรือใครติดต่อเข้ามาเรื่องตำแหน่งทางการเมือง โดยส่วนตัวมองว่า ต้องให้เกียรติพรรคการเมืองที่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของเขา ที่ต้องจัดตั้งรัฐบาลอย่างสง่างาม
เบื้องต้นตนเองมีความชัดเจนว่า จะทำงานที่พรรคเพื่อไทย เพื่อมาดูการรีแบรนด์ดิงพรรค เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ส่วนการรีแบรนด์ดิงพรรค จะออกมาในรูปแบบใด ตอนนี้ยังไม่ทราบ ต้องไปพูดคุยหารือกันก่อน
ยันชัด “พิธา” เรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ส่วนกรณีดรามาว่า นายพิธา ไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เป็นโรงเรียนชื่อฮาร์วาร์ด เคนเนดี ล่าสุดสำนักข่าวเอเอฟพี ได้ตีพิมพ์บทสัภาษณ์ของ “จิม มีแฮน” เจ้าหน้าที่ทะเบียนจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดีว่า ฝั่งทะเบียนยืนยันว่า นายพิธา ลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา ในระดับรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ที่วิทยาลัยการปกครองจอห์น เอฟ เคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School) โดยเริ่มการศึกษาในเดือน ก.ย. 2551 และสำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ในวันที่ 26 พ.ค. 2554
ขณะที่ “คริสเตียน คีเทลส์” หนึ่งในอาจารย์จากโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด กล่าวว่า นายพิธา ลงเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคเพื่อการแข่งขัน ซึ่งเป็นวิชาที่สอนโดยโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด ในปี 2554 วิชาดังกล่าวเป็นการเรียนควบทั้งโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด และวิทยาลัยปกครองเคนเนดี โดยนายพิธา ลงเรียนวิชานี้ ในฐานะนักเรียนจากวิทยาลัยเคนเนดี และเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35