จับตาพรรคก้าวไกล นำบรรดาพรรคร่วม ทำร่างบันทึกข้อตกลง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยล่าสุด ทางเลขาธิการพรรคก้าวไกล ยืนยันสถานการณ์ยังคงเรียบร้อยดี
“ก้าวไกล” ยันไร้ปัญหา ทำ MOU พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
นายชัยธวัธ ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) จัดตั้งรัฐบาลว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจากข้อห่วงกังวล หรือเงื่อนไขบางอย่าง ของพรรคร่วมรัฐบาล ได้มีการปรับแก้ถ้อยคำ หรือทำความเข้าใจกันแล้ว เช่น เรื่องสมรสเท่าเทียม และสุราก้าวหน้า ที่พรรคประชาชาติ บอกว่าขัดต่อหลักศาสนา ได้มีการปรับถ้อยคำใหม่
ส่วนข้อห่วงกังวลของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียะเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เรื่องเงื่อนไขที่บีบรัดเกินไป ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ขณะที่การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ถูกเขียนในร่าง MOU แต่จะใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎร หาข้อยุติแทน เพราะต้องมีความเห็นจากหลายฝ่าย
“นิพิฏฐ์” ชี้ปม “นิรโทษกรรม” ส่อทำวุ่น
ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แสดงความเห็นบางช่วงเกี่ยวกับร่าง MOU ว่า จะมีเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง เรื่องนี้เคยตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณา ทั้งในและนอกสภา แต่ไม่มีข้อยุติ และเมื่อมีการนำเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่สภา ก็กลายเป็น “นิรโทษกรรมสุดซอย” จนมีการชุมนุมใหญ่ เป็นเหตุให้ยึดอำนาจ
อย่างคดีการเมือง ไม่มีการบัญญัติในกฎหมายว่า คดีใดคือคดีการเมือง ส่วนการเผาสถานที่ราชการ หรือสถานที่เอกชน เคยถกเถียงกันว่า คดีนี้เหล่านี้ ไม่ใช่คดีการเมือง และผู้กระทำความผิด ได้พ้นโทษหมดแล้ว ฉะนั้นการนิรโทษกรรม จึงไม่มีประโยชน์
แต่ที่เป็นปัญหามาก คือ “คดีทุจริต” ในบางรัฐบาล มีนักการเมือง รัฐมนตรี และข้าราชการ โดนจำคุกคดีทุจริต ซึ่งไม่ถือเป็นคดีการเมือง หากยังนิรโทษกรรมบุคคลเหล่านี้ จะทำให้เกิดการชุมนุมรอบใหม่ ๆ ยังไม่รวมถึงการนำคดี ม.112 พ่วงเข้าไปรวมด้วย
ส่วนตัวไม่ได้ต้องการชักใบให้เรือเสีย แต่ถ้าเริ่มทำ ต้องมีปัญหาข้างต้นตามมาแน่ ๆ ฉะนั้นบางเรื่อง ต้องใช้เวลาในการแก้ไข และเอาอย่างอื่นมาแก้ไขแทนไม่ได้ เมื่อเรียกตัวเองว่า เป็นคนรุ่นใหม่ อย่าสร้างประเทศนี้ ด้วยความโกรธแค้น หรือชิงชัง
เตือนม็อบกดดัน สว.อย่าเหยียบย่ำหัวใจคนไทย
ทั้งนี้ในประเด็น ม.112 ทาง พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความบางช่วงว่า ในฐานะอดีตข้าราชการไทย ที่เลือกอาชีพด้วยความตั้งใจ เป็นข้าแห่งพระราชาดูแลประชาชน แม้นโยบายที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะยังไม่ได้ถูกตกลง แต่นโยบายที่ต้องไม่แตะ คือ การทำลายสถาบันฯ และอย่าอ้างผลการเลือกตั้งว่า ได้เสียงส่วนใหญ่ เพราะที่ได้มา ก็แค่มากกว่าพรรคอื่น แต่ไม่อาจอ้างได้ว่า เป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนไทย
ซึ่งการเตรียมม็อบออกมาในวันพรุ่งนี้ (23 พ.ค.) จะยิ่งทำให้เห็นทุนที่อยู่เบื้องหลังว่า ตั้งใจเหยียบย่ำหัวใจคนไทย ยิ่งกดดัน ก็ยิ่งไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา ยิ่งอ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่หมด อย่าประเมินความรักในแผ่นดินต่ำ
“ยิ่งลักษณ์” ทวีตครบรอบวันรัฐประหาร
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า วันนี้ (22 พ.ค.) ถือเป็นวันครบรอบ 9 ปี ของการรัฐประหาร โดยความรู้สึกส่วนตัว ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศ ที่ถูกรุกไล่อย่างหนัก จากฝ่ายเผด็จการ ซึ่งผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องสะท้อนแล้วว่า ประชาชนไม่ทนกับกลุ่มคนที่ได้อำนาจมา โดยมิชอบอีกต่อไป
นี่คือผลพวงของการทำรัฐประหาร แย่งอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จากวันนี้เป็นต้นไป หวังว่าจะไม่เห็นการทำรัฐประหารอีกแล้ว สุดท้ายนี้ขอเอาใจช่วย ให้เราได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อประชาชนและอำลารัฐประหาร ให้หมดสิ้นไปจากประเทศเสียที
เตือนภัย ! มิจฉาชีพปลอมเป็น “พิธา” ขอเงินแลกตำแหน่ง
ปิดท้ายที่สมาชิกโซเชียล มีการแชร์ข้อความเตือนภัย หลังจากพบมิจฉาชีพ มีการปลอมเฟซบุ๊กของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล พร้อมทักข้อความไปหาสมาชิกคนอื่น ๆ โดยอ้างว่า “กำลังจะจัดตั้งรัฐบาล แต่มีปัญหานิดหน่อย จึงให้ช่วยสนับสนุนบัตรทรูให้ตนเอง 1,000 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการเอกสาร เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว จะแต่งตั้งผู้สนับสนุนเป็นรัฐมนตรี เพื่อเป็นการตอบแทน”
เปิดร่างข้อตกลง 23 ข้อ จัดตั้งรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) จำนวน 23 ข้อ ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เบื้องต้นประกอบด้วย
1. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฟื้นฟูประชาธิปไตย มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
2. การแสดงออกทางการเมือง ทุกพรรคจะร่วมอำนวยความยุติธรรม คดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ผ่านกลไกรัฐสภา
3. สมรสเท่าเทียม ยืนยันและผ่านกฎหมาย โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่า ขัดแย้งกับหลักศาสนาที่ตนนับถือ
4. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องหลักประชาธิปไตย
5. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ
6. สันติภาพชายแดนใต้ ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ทบทวนภารกิจของหน่วยงาน และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
7. กระจายอำนาจ ทั้งในแง่ภารกิจ และงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปราศจากทุจริต
8. แก้คอร์รัปชัน โดยการสร้างระบบ และวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
9. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่้เติบโตอย่างเป็นธรรม
10. กฎหมายด้านเศรษฐกิจ ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราว ซึ่งใบอนุมัติที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรค ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องด้านการเงิน และสร้างแต้มต่อให้ SME พร้อมมุ่งเน้นการเติบโตของ GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรมและสินค้าไทย แข่งขันกับตลาดโลกได้
11. สุราเสรี ยกเลิกการผูกขาด และส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า
12. ปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้ของรัฐ ที่ทับซ้อนกับที่ดินประชาชน
13. ค่าไฟฟ้า ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม
14. งบประมาณใหม่ จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นวิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)
15. สวัสดิการ ดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิด จนถึงผู้สูงวัย คำนึงถึงความเหมาะสม และภาระทางการคลังระยะยาว
16. ยาเสพติด แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
17. กัญชาเสรี นำไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุม และรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
18. การเกษตร และปศุสัตว์ปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
19. ประมง แก้ไขกฎหมาย เยียวยา และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
20. สิทธิแรงงาน ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพ ให้มีสภาพการจ้างงาน และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม
21. ปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
22. แก้ปัญหาฝุ่น-โลกร้อน สร้างความร่วมมือและกลไกภายใน และระหว่างประเทศ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด
23. นโยบายต่างประเทศ ฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศ
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35