เช้านี้ที่หมอชิต - ตอนนี้หลายคนคงกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการจัดตั้งรัฐบาล ว่าพรรคที่ได้ที่นั่ง สส. อันดับ 1 อย่าง พรรคก้าวไกล จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ แต่ว่าใครที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา อย่ามัวแต่ลุ้นเพลิน เพราะหากท่านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องรีบไปแจ้งเหตุผล เพื่อรักษาสิทธิทางการเมืองหลายอย่างเอาไว้
การเลือกตั้ง สส. ผ่านมาแล้ว 5 วัน อีกเพียงแค่ 2 วัน ก็จะครบ 7 วัน ซึ่งตัวเลข 7 วันนี้ มีความหมายต่อคนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กำหนดไว้ว่า คนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือนับจากวันเลือกตั้งไปแล้ว ถ้าใครไม่ได้แจ้งก่อนวันเลือกตั้ง ก็ต้องแจ้งหลังการเลือกตั้งไปแล้วภายใน 7 วัน ซึ่งหากนับจากวันนี้ก็จะเหลือเวลาอีกเพียง 2 วันเท่านั้น คือภายในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคมนี้
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ให้แจ้งเหตุผลที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยใช้แบบฟอร์ม สส. 1/8 หรือทำเป็นหนังสือระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน พร้อมทั้งแจ้งเหตุผลที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ โดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้คนอื่นยื่นแทน หรือส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งผ่านระบบออนไลน์ ทางแอปพลิเคชัน Smart Vote
สำหรับเหตุผลอันสมควร ที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ประกอบด้วย
1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
4.เดินทางออกนอกราชอาณาจักรและมิได้แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้ง
5.มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
6. มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ท่านใดที่ไม่แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกจำกัดสิทธิ 5 ประการ ประกอบด้วย
1. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง สส.
2. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น สว.
3. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
4. ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
5. ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือ คณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การจำกัดสิทธิทั้ง 5 ประการ มีกําหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง เมื่อผ่านพ้น 2 ปีแล้ว สิทธิทั้งหมดจะกลับมาเหมือนเดิม แต่หากระหว่างนั้น มีการเลือกตั้งอีก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก การจำกัดสิทธิ 2 ปี ก็จะเริ่มนับใหม่ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งหลังสุด
อย่าลืม หากท่านไม่ได้ไปสิทธิเลือกตั้ง ยังมีเวลาไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคมนี้ เพื่อรักษาสิทธิทางการเมืองของท่านไว้
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35