ครั้งก่อนในรายการเงินทองของจริงเคยพูดถึงเรื่อง "คาร์บอนเครดิต" กันไปแล้ว และมีอีกคำหนึ่ง คือ "พลาสติกเครดิต" คำนี้หมายความว่าอย่างไร ?
โดยหลักการแล้ว "พลาสติกเครดิต" มีลักษณะคล้าย ๆ กับ "คาร์บอนเครดิต" คือ มีผู้ก่อผลกระทบ หรือก็คือโรงงาน ซึ่งเราหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษเหล่านั้นไม่ได้ ดังนั้น ยังต้องมีการปล่อยมลพิษในอัตราที่กำหนดอยู่ โดยจะต้องซื้อเครดิตเพื่อให้ได้สิทธิปล่อยมลพิษตามเกณฑ์
"พลาสติกเครดิต" คิดค้นขึ้นมาด้วยหลักการเดียวกับคาร์บอนเครดิต แต่ในกรณีพลาสติกเครดิตจะแบ่งประเภทเครดิตเป็น 2 แบบ ได้แก่
1. เครดิตจากการรวบรวมขยะพลาสติกออกจากสิ่งแวดล้อม
2. เครดิตจากการรีไซเคิลพลาสติก
นอกจากนี้ พลาสติกเครดิตยังแบ่งแยกตามประเภทของวัสดุพอลิเมอร์ของขยะพลาสติกด้วย และนอกเหนือจากนั้นแล้ว พลาสติกเครดิตยังสามารถ ซื้อ-ขาย ได้เช่นเดียวกันกับคาร์บอนเครดิตด้วย
"ผู้ขายเครดิต" ที่จัดทำโครงการเพื่อรวบรวมหรือรีไซเคิลขยะพลาสติกออกจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ขายเครดิตบางรายอาจจัดทำโครงการทั้งสองแบบควบคู่กัน กล่าวคือโครงการจะรวบรวมหรือรีไซเคิลขยะพลาสติก โดยแยกตามประเภทวัสดุพอลิเมอร์ หรือการจ้างชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกจากสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
"ผู้ซื้อเครดิต" ส่วนใหญ่เป็นองค์กรหรือบริษัทที่ใช้พลาสติกในการดำเนินกิจการ ซึ่งสาเหตุที่ผู้ซื้อเครดิตต้องการพลาสติกเครดิตก็เพื่อลดปริมาณ "รอยเท้าพลาสติก" หรือ Plastic Footprint ที่เป็นปริมาณสะสมของพลาสติกแต่ละวัสดุพอลิเมอร์ที่ผู้ซื้อเครดิตสร้างขึ้นและปล่อยสู่ตลาดผู้บริโภคทั้งผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกล้วน ๆ
สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจในกลุ่มนี้ และเข้าร่วมโครงการ จะได้รับใบเสร็จดิจิทัลที่ระบุข้อมูลปริมาณพลาสติกที่ถูกกำจัดออกจากสภาพแวดล้อมจริง โดยขยะพลาสติกทุก ๆ 1 กก. ที่ถูกขจัดออกไป จะได้แต้ม CSR Plastic Credit 10 แต้ม ซึ่งการทำงานในขั้นตอนนี้จะมีการเก็บแต้มในระบบ Block Chain เพื่อความโปร่งใส ทุกคนสามารถช่วยกันตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำตัวเลขไปหักลบกับ "รอยเท้าพลาสติก" หรือ Plastic Footprint ได้ ในรายงานผลประกอบการขององค์กร เพื่อยกระดับหน่วยงานและแบรนด์สินค้า แสดงถึงมาตรฐานระดับสากลที่ผ่านการรับรองอย่างเป็นรูปธรรม
คำพูดที่ว่า "ขยะเป็นทอง" เพราะพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้น ธุรกิจกลุ่มพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะก็ดี หรือรีไซเคิลก็ดี นอกจากสามารถทำเงินจากตัวธุรกิจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ยังสามารถสร้างแต้มเครดิตมาขายต่อเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย และเทรนด์แบบนี้ทั้งคาร์บอนและพลาสติกกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเชื่อว่าในอนาคตจะมีอื่น ๆ อีกมากที่มีคำต่อท้ายด้วยคำว่า "เครดิต"
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35
และรับชมออนไลน์ ผ่าน YouTube: TERO Digital ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.35 น.