“เรืองไกร” บุกยื่น กกต.ตรวจสอบกรณี “พิธา” มีชื่อถือครองหุ้นบริษัทสื่อ อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
“เรืองไกร” รุกหนักปม “พิธา” ถือครองหุ้นสื่อ
วันนี้ (10 พ.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร สส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อ และแคดดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่ หลังจากนายพิธา มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
นายเรืองไกร เปิดเผยว่า ใช้เวลา 5 วัน ในตรวจสอบเรื่องนี้ โดยได้ข้อมูลมาจากบุคคลที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี ซึ่งหลักฐานตามเอกสาร ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งมา พบว่า ณ วันที่ 27 เม.ย. 2565 นายพิธา ยังคงเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นจำนวนดังกล่าวอยู่ และบริษัทไอทีวี เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ โดยรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นล่าสุด มีผู้ถือหุ้นถามผู้บริหารว่า “บริษัทไอทีวี เป็นสื่อหรือไม่” ผู้บริหารได้ตอบว่า “เป็นบริษัทสื่อ”
ฉะนั้นต้องให้ กกต.ตรวจสอบ ส่วนการนายพิธา บอกว่าหุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตนเอง เป็นกองมรดก และตัวเองเป็นผู้จัดการนั้น แต่อยากให้ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) เขียนเพียงว่า ผู้จะลงสมัคร สส. ต้องไม่เป็นผู้ถือครองหุ้นสื่อเท่านั้น
เช่นเดียวกับกรณีที่นายพิธา อ้างว่า หารือและชี้แจงต่อ ป.ป.ช. แล้ว เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน เพราะเรื่องที่ตนเองร้อง เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการลงสมัคร สส. ไม่ใช่การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และจากการตรวจสอบการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายพิธา ระหว่างดำรงตำแหน่ง สส. ก็ไม่พบว่า มีการแจ้งหุ้นดังกล่าว ฉะนั้นต้องยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่า มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือไม่
ส่วนตัวอยากให้ กกต.รีบตรวจสอบ เพราะผลที่ออกมาก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง จะแตกต่างกัน ถ้าตรวจสอบเสร็จหลังเลือกตั้ง ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ เหมือนกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยการยื่นเรื่องครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องต้องการสกัดนายพิธา แต่อย่างใด
เปิดข้อเท็จจริงหุ้นไอทีวี
ขณะที่นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี “หุ้นไอทีวี” ว่า สรุปสาระสำคัญของบริษัทไอทีวี จากรายงานประจำปี 2565 คือ
1. หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มี.ค. 2550 จากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกฯ
2. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถอดหุ้นไอทีวี จากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2557
3. ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฎหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกฯ สืบเนื่องจากกรณีอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฏหมาย และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท
ต่อมาสำนักปลัดสำนักนายกฯ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้อง วันที่ 2 ม.ค. 2564 มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
4. บัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ย 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท
5. ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนต์ และกิจกรรมการตลาดอื่น ๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ
6. กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของไอทีวีในปัจจุบัน เป็นบริษัทแห่งหนึ่ง
7. การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับสำนักปลัดสำนักนายกฯ
“พิธา” ยืนยันไม่ซ้ำรอย “ธนาธร” ปมถือหุ้นสื่อ
ส่วนความเคลื่อนไหวของนายพิธา ได้ลงพื้นที่ช่วยลูกพรรคหาเสียง ในเขต 10 ดอนเมือง และเขต 11 สายไหม โดยนายพิธา กล่าวถึงเรื่องถือครองหุ้นสื่อว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องกังวล หากคำร้องของ กกต.มาถึง ก็พร้อมจะไปชี้แจง ตอนนี้ไม่อยากทำให้เรื่องยืดยาว และขอมุ่งมั่นกับการหาเสียงก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการแจ้ง ป.ป.ช. ไปเมื่อไหร่ นายพิธา บอกว่า แจ้ง ป.ป.ช. ไปเมื่อปี 2562 และขอยืนยันว่า ไม่ซ้ำรอยกรณีนายธนาธร แน่นอน
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35