เมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุมเธียร์เตอร์ ชั้น 4 อาคารการกีฬาแห่งประเทศไทย วัน แชมเปียนชิพ (ONE) องค์กรสื่อกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทวีปเอเชีย ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (สนามมวยเวทีลุมพินี) จัดแถลงข่าวการแสดงวิสัยทัศน์และทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมมวยไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากล
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย, พลเอก สุชาติ แดงประไพ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก พร้อมด้วย นายอริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์ กรรมการผู้จัดการ วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย และนายจิติณัฐ อัฎษามงคล ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว
“การกีฬาแห่งประเทศไทย เรามีการสนับสนุน ส่งเสริม และเผยแพร่กีฬามวยไทยมาโดยตลอด แต่ในการจะนำพามวยไทยไปสู่ระดับสากล เราไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องมีผู้ร่วมอุดมการณ์ โดยเราได้ทำบันทึกข้อตกลงกับความร่วมมือ (MOU) กับ กองทัพบก ในฐานะเจ้าของ ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก(สนามมวยเวทีลุมพินี)”
“รวมถึงได้ภาคเอกชนอย่าง วัน แชมเปียนชิพ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนมวยไทย ผ่านการจัด ONE ลุมพินี ซึ่งได้มีการดำเนินการขออนุญาตจัดมวยไทยถูกต้องตามกฏหมาย ผ่านกระบวนการพิจารณาทั้งกฏ กติกา และมาตรการแข่งขันต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย”
“จึงสามารถใช้คำว่ามวยไทยได้ เพราะมีการดำเนินการจัดแข่ง ตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ว่าด้วยระเบียบกติกาการแข่งขันกีฬามวย ภาค 4 (กีฬามวย อื่นๆ) ซึ่งในระยะเริ่มต้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การจัดแข่งขันนั้น ทำให้ผู้ที่มีอาชีพประกอบโดยตรงอย่างเช่น นักมวย, หัวหน้าค่าย มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม กล่าว
ขณะที่ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก เผยว่า “สนามมวยเวทีลุมพินีถือเป็นเวทีอันทรงคุณค่าและมีตำนาน ในปัจจุบัน เราได้มีการปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยมีนโยบายหลัก 3 ข้อ คือ 1. ทำมวยไทยให้เป็นอาชีพ 2.ทำมวยไทยให้เป็นกีฬาประจำชาติ และ 3. ทำมวยไทยให้เป็นมรดกของชาติ”
“เราจึงได้ทำการเชิญคุณชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ก่อตั้ง ประธานและซีอีโอของ วัน แชมเปียนชิพ มาจัดการแข่งขันที่สนามมวยเวทีลุมพินี เพราะเราได้พิจารณาแล้วว่าเป็นบุคคลเดียวที่สามารถพามวยไทยไปสู่ตลาดโลกได้ จากการได้พูดคุยกันหลายครั้งผมอยากยืนยันว่าเขาคือคนไทยที่อยากทำประโยชน์ให้ประเทศของเรา และเขาไม่มีวันทำลายมวยไทย ดังนั้นผมจึงขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อพาการแข่งขันมวยไทยให้ชาวโลกนิยมและยกย่อง เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมมวยไทย และประเทศไทย ขอบคุณครับ ”
ด้าน นายอริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์ กรรมการผู้จัดการ วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย “เมื่อ ONE ได้มีโอกาสมาร่วมมือกับทาง กกท. และสนามมวยเวทีลุมพินี เราจึงช่วยเป็นอีกทางให้นักกีฬามีอาชีพที่ดี มีชีวิตที่ดีขึ้น มีอนาคต รวมถึงปรับให้มวยไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ความเป็นไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ทำให้ สนามมวยลุมพินี และกกท. เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์และสิ่งที่เราตั้งใจทำเพื่ออุตสาหกรรมมวยไทยและประเทศไทย”
“เราอยากทำให้นักมวยไทยหลีกหนีความยากจน ไม่ต้องมีชีวิตที่ลำบาก เมื่อแขวนนวมไปแล้ว พวกเขาควรได้รับค่าตอบแทนคุ้มค่ากับการชก ที่สำคัญเราเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักกีฬามาเป็นอันดับ 1 มีการตรวจร่างกายอย่างละเอียดทั้งก่อนและหลังชก รับผิดชอบค่ารักษามวย”
“การเข้ามาจัดการแข่งขันในประเทศไทยของ วัน แชมเปียนชิพ ไม่ใช่แค่เพียงหานักกีฬาที่ดีสุดในบ้านเรา เพื่อออกไปชกในระดับโลก แต่เรามีโครงการร่วมกับ กกท. ในการเฟ้นหานักชกเยาวชนผ่านโครงการ มวยรากหญ้าสู่สากลอีกด้วย”
ส่วน นายจิติณัฐ อัฎษามงคล ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่า “วัน แชมเปียนชิพ เราเป็นองค์กรสื่อกีฬาศิลปะการต่อสู้อันดับ 1 ของโลก ซึ่งมี มวยไทย เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่จัดแข่งขันด้วย ดังนั้นนี่จึงทำให้ กีฬามวยไทยเกิดการแพร่หลายไปในระดับสากล เพราะเรามีการถ่ายทอดสดไปกว่า 170 ประเทศทั่วโลก รวมถึงยังเป็นโอกาสที่จะสอดแทรกวัฒนธรรมไทย อาทิ การไหว้ครู เสียงปี่พาทย์ ภาษาไทย เข้าไปสู่สายตาชาวโลกได้อย่างลงตัว”
“ดังนั้น วัน แชมเปียนชิพ, การกีฬาแห่งประเทศไทย และสนามมวยเวทีลุมพินี เราจึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างให้เกิดมาตรฐานใหม่ และการรับรู้ความเข้าใจใหม่ ๆ ไปสู่วิสัยทัศน์ในการพามวยไทยไปสู่ระดับโลก มาเปลี่ยนอุตสาหกรรมตรงนี้ด้วยกัน สร้างให้ประเทศเราเกิดรายได้ สร้างฮีโร่ของเราไปสู่ในระดับโลก และทำให้สักวันหนึ่งมวยไทยกลายเป็นกีฬาอันดับ 1 ในศิลปะการต่อสู้ทั่วโลก”