รพ.ชี้แจง กรณีแม่อุ้มลูกขอลัดคิวรพ. โวยหมอไม่ยอมรักษา เบื้องต้นเด็กไม่มีอาการเข้าข่ายวิกฤตฉุกเฉิน หลังแม่โวยวาย พาเด็กไปเช็ดตัว จ่ายยา ล่าสุดปรับความเข้าใจกันดีแล้ว แม่ยอมลบคลิป
จากกรณีโลกออนไลน์แชร์คลิปแม่คนหนึ่งอุ้มลูกชายวัย 1 ขวบ ที่ป่วยเป็นโควิด-19 ไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แต่ผู้เป็นแม่บอกว่า ถูกหมอปฏิเสธไม่ยอมรักษา ให้รอคิว แต่ตนเองร้อนใจ กลัวลูกเป็นอะไรไปมากกว่านี้ จึงนำคลิปมาโพสต์เพื่อให้โรงพยาบาลแห่งนี้ปรับปรุง
วันที่ 2 พ.ค.2566 โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ได้ออกหนังสือชี้แจงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
ตามที่ มีการโพสต์ถึงการให้บริการผู้ป่วยในสื่อสังคมออนไลน์ และก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนบางประการ นั้น
โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ขอชี้แจงข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 เวลา 19.59 น. ผู้รับบริการท่านหนึ่งพาสามี และบุตรชาย อายุ 1 ปี 7 เดือน ที่ป่วยเป็นโควิด 19 มาตรวจนอกเวลาราชการ แต่เนื่องจากไม่มีอาการเข้าข่ายวิกฤติฉุกเฉิน จึงได้มาตรวจที่ห้องตรวจโรคทั่วไปนอกเวลา
เมื่อมาถึงห้องตรวจโรคทั่วไปนอกเวลา ซึ่งมีผู้ป่วยรอรับบริการอยู่เป็นจำนวนมาก มารดากังวลใจจะขอรับบริการก่อนผู้ป่วยท่านอื่น แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต และให้ไปรอตรวจ ณ บริเวณที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการแยกโรคและป้องกันการติดต่อแพร่กระจายไปยังบุคลากรทางการแพทย์และผู้รับบริการท่านอื่น เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลตามเกณฑ์การรักษาแล้ว แต่มารดายังร้อนใจ จึงส่งเสียงดังและเข้าไปถ่ายคลิปโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตภายในห้องตรวจขณะที่แพทย์กำลังตรวจผู้ป่วยสูงอายุอยู่ ทำให้ญาติของผู้ป่วยสูงอายุไม่พอใจ โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการบริหารจัดการให้สถานการสงบได้ในเวลาต่อมา
ทั้งนี้สถานพยาบาลได้มีการประกาศห้ามถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอ เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น
เมื่อออกมานอกห้องตรวจ เจ้าหน้าที่ได้พาเข้ามาในห้องพยาบาล เพื่อให้ทานยาลดไข้ และสอนการเช็ดตัวที่ถูกวิธี โดยเจ้าหน้าที่ช่วยเตรียมอุปกรณ์ให้ แต่มารดาของผู้ป่วยเด็กก็เรียกสามีที่ติดโควิด 19 ซึ่งรออยู่ด้านนอกให้เข้ามาเช็ดตัวลูกแทน เมื่อสถานการณ์จึงสงบลง แพทย์ได้จ่ายยาและให้กลับบ้าน
ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ทางโรงพยาบาลติดต่อไปพูดคุยและปรับความเข้าใจ พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งทางผู้โพสคลิปมีความเข้าใจและยินดีลบคลิปดังกล่าวออกไปแล้ว ทั้งนี้ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เข้าใจ เห็นใจ และยังคงมุ่งมั่นพร้อมที่จะให้บริการประชาชนทุกคน ตามมาตรฐานวิชาชีพทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม
ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566
+ อ่านเพิ่มเติม