เช้านี้ที่หมอชิต - เหยื่อมิจฉาชีพเว็บหลอกดูดเงินมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพพวกนี้จะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ แต่กรณีที่มาเปิดเผยกับเราในครั้งนี้สะท้อนอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ต้องแก้ โดยเธอได้ตั้งคำถามต่อธนาคาร ในฐานะตัวกลางการทำธุรกรรม เพราะแม้เธอสังเกตถึงความไม่ปกติได้เร็วและแจ้งระงับทุกอย่างภายใน 5-10 นาที แต่ผลสุดท้ายเธอยังถูกเรียกเก็บเงิน 450,000 บาท
คุณยชญ์วัลย์ หรือ คุณวัลย์ เล่าว่า ย้อนกลับไปวันที่ 23 มีนาคม เธอกำลังวุ่นวายอยู่กับการเตรียมตัวเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงสงกรานต์ มีการจองโรงแรมและทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ชื่อดัง ขณะที่กำลังยืนยันการจองและขอรีฟันด์เงินคืนเพราะยกเลิกการจองโรงแรมบางแห่ง อยู่ ๆ ก็มีอีเมลคล้ายกับเว็บไซต์ดังกล่าว เด้งขึ้นมาบอกจะรีฟันด์เงินคืนให้ มีการขอเลขบัตรเครดิตและเบอร์โทรศัพท์ ด้วยความที่ไม่ได้สังเกตให้ดีจึงดำเนินไปตามกระบวนการที่อีเมลแจ้งมา โดยจะมีตัวเลข OTP มาให้ยืนยันด้วย พอยืนยันหน้าจอจะนิ่งไป ก็กรอกใหม่ 3 ครั้ง เริ่มรู้สึกว่าผิดปกติ จึงปิดคอมพิวเตอร์ทันที แต่ OTP ก็ยังเด้งขึ้นมาอีก 8 ครั้ง โดยไม่ได้ร้องขอ จึงรีบเข้าแอปธนาคารเพื่ออายัดบัตรและแจ้งไปยังธนาคารเพื่อยกเลิกการทำธุรกรรมเหล่านั้น ทางธนาคารรับทันที โดยระหว่างนั้นก็จะเห็นรายการธุรกรรมแปลก ๆ 3 รายการ รอดำเนินการ ที่เป็นสกุลเงินแปลก ๆ ขึ้นมา ได้แจ้งธนาคารไปว่าเราถูกหลอกให้คลิกลิงก์ปลอม ต้องการยกเลิกการทำธุรกรรมเหล่านี้ กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที
เมื่อทำตามกระบวนทุกอย่างที่ธนาคารแจ้งก็คิดว่าการพักยอดการทำธุรกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว อีกทั้งต่อมายังมี SMS แจ้งว่าได้พักการทำธุรกรรมยอดทั้ง 3 ส่วนบัตรที่ยกเลิกก็มีการส่งมาใหม่ จึงคิดว่าไม่มีอะไร
6 วันต่อมา แผนกสืบสวนของธนาคารดังกล่าว สมมติ ชื่อ นาย น. โทรมาแจ้งให้ไปแจ้งความเพื่อเอาใบแจ้งความไปยืนยันกับทางมาสเตอร์การ์ดต่างประเทศ พร้อมบอกล่วงหน้าว่าอาจไม่สามารถได้เงินคืนทุกเคส คุณวัลย์รีบไปแจ้งความและส่งข้อมูลให้ธนาคารในวันรุ่งขึ้น ตอนนั้นยังคิดว่าเป็นเรื่องกระบวนการทั่วไปแล้วก็เดินทางไปท่องเที่ยวตามที่วางแผนไว้
ผ่านไป 14 วัน เริ่มเอะใจ เพราะธนาคารไม่ได้ตอบสนองอะไรกลับมา พอกลับจากจากประเทศจึงสอบถามไปยังธนาคารในวันที่ 19 เมษายน คอลเซ็นเตอร์แจ้งว่า นาย น.แผนกสืบสวน บอกว่าคุณวัลย์ต้องจ่ายเงินก้อนนี้ เพราะได้ยืนยันกับเขาว่าเธอยอมจ่าย กระบวนการของธนาคารจบแล้ว สามารถเยียวยาได้แค่ให้ผ่อน 0 เท่านั้น ซึ่งทางคุณวัลย์ปฏิเสธว่าไม่เคยยืนยอมแบบนั้น
ตรงนี้คือประเด็น เพราะก่อนหน้าทางธนาคารเพิ่งบอกว่า กระบวนการของธนาคารจบแล้ว แต่เมื่อเธอแย้งไป กลับบอกว่าเมืองนอกยังไม่ส่งอะไรกลับมา ผ่านไป 30 นาที นาย น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน โทรมาแจ้งว่า เพิ่งได้อีเมลจากเมืองนอกตอนนี้เลย เป็นภาษาอังกฤษกับโปแลนด์ อ่านคร่าว ๆ ได้ความว่าเขาปฏิเสธเพราะเราได้รับสินค้าและบริการไปแล้ว
คุณวัลย์ บอกว่า เมื่อเกิดปัญหา ทางธนาคารอ้างแต่ว่ากรอก OTP ไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งไม่จริง เพราะเมื่อตนได้ไปค้นเจอกรณีที่ธนาคารรับผิดชอบ อย่างกรณีนี้ กดลิงก์ใน SMS และกรอกรหัส OTP 200 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 30 ล้านบาท ทุกเคสได้เงินคืน แต่นาย น. ตอบกลับมาว่า ผมไม่ได้มีหน้าที่ต้องรู้ทุกเคส งานเยอะ งานล้นมือจะไปฟ้องร้องหรือฟ้องสื่อก็แล้วแต่พี่
คุณวัลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่าการโดนหลอกให้กรอก OTP ลักษณะนี้น่าจะมีเยอะ ธนาคารต้องยกระดับเรื่องความปลอดภัยให้ทันด้วย หลายธนาคารเมื่อสังเกตธุรกรรมแปลก ๆ ต่อให้กรอก OTP ก็จะโทรมาถามทันทีเพื่อยืนยันว่าคุณทำธุรกรรมนี้หรือไม่ แต่ธนาคารนี้ไม่มี กลับกันเมื่อยืนยันว่าถูกหลอก ไม่ต้องการทำธุรกรรมนี้ กลายเป็นธนาคารที่ไปช่วยมิจฉาชีพให้ทำสำเร็จ เพราะ นาย น. บอกเองว่าธนาคารได้สำรองจ่ายเงินก้อนนี้ไปให้ นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในต่างประเทศ เมื่อมาสเตอร์การ์ดได้รับแจ้ง เขาจะระงับได้ทันที จึงเป็นคำถามว่าตัวกลางอย่างธนาคารได้ทำหน้าที่ของตัวเองหรือยัง เพราะขั้นตอนชี้แจงไม่ชัดเจน หรือถ้ายังขาดข้อมูลอะไรก็สามารถสอบถามจากเราได้ เพราะเงินที่เสียไปคือ 450,000 บาท ไม่ใช่น้อย ๆ นอกจากเรื่องความปลอดภัย อีกเรื่องที่อยากฝากไปยังธนาคารทุกแห่ง คือระยะเวลาที่ชัดเจนในการจัดการเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ต้องแจ้งในกี่นาทีหรือกี่ชั่วโมงจึงจะสามารถบล็อกธุรกรรมที่ไม่ปกติได้ทัน เพราะถ้า 6 วันแบบที่เกิดขึ้นยังไงก็ไม่ทัน
คุณวัลย์ ยืนยันว่าจะฟ้องร้องแน่ เพราะอยากเห็นเอกสารที่ธนาคารยื่นกับทางมาสเตอร์การ์ดต่างประเทศว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รายละเอียดเป็นอย่างไร และอยากได้บันทึกเสียงที่พนักงานคุยกับเราทั้งหมด เพราะต้องการให้เป็นอุทธาหรณ์แก่สังคมว่า การรับมือกับสถานการณ์แบบนี้สะท้อนความไม่มืออาชีพของธนาคาร เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเหยื่อรายอื่นด้วย
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม