ผลไม้ชนิดนี้ บางคนอาจรู้จัก แต่ก็มีบางคนที่ยังไม่รู้จัก นั้นก็คือ “คอแลน” หรือ “มะแงว” ผลไม้ป่าหากินยาก ที่ 1 ปี จะมีครั้งเดียว
ที่บริเวณข้างบ้าน ของ นายยง ไฮกระโทก อายุ 73 ปี ชาว ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา มีต้นไม้ป่า หายากชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพียงต้นเดียวโดด ๆ สูงท่วมหลังคาบ้าน ซึ่งชาวบ้านแถบนี้ เรียกกันว่า ต้น “คอแลน” หรือ “มะแงว” หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ “ลิ้นจี่ป่า” เป็นไม้ป่าออกลูกเป็นพวง ลูกสุกมีสีแดงสดใส ลักษณะคล้ายกับลิ้นจี่ แต่ลูกมีขนาดเล็กกว่ามาก มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน
ถึงแม้ว่า “คอแลน” จะเกิดขึ้นเพียงต้นเดียว แต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวนี้ ปีละหลายพันบาท เนื่องจากแต่ละปีจะติดลูกเพียงครั้งเดียวในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของชาวบ้าน และหากินได้ยากมาก เพราะตอนนี้ ต้นคอแลน ไม่ได้มีให้เห็นได้ทั่วไป อีกทั้ง ในแต่ละปีมีคนสั่งออเดอร์จนหมดฤดูกาล เรียกได้ว่า มีเท่าไรก็ไม่พอขายกันเลยทีเดียว
นายยง (เจ้าของบ้าน) กล่าวว่า คอแลนต้นนี้ เกิดขึ้นมาด้วยความบังเอิญ เนื่องจากซื้อลูกมากิน แล้วโยนเมล็ดทิ้งไว้ข้างบ้าน จนเกิดเป็นต้นเจริญเติบโต ผ่านไปหลายปี คอแลน เริ่มออกลูกให้กิน จากนั้น เมื่อมีคนเห็นก็เริ่มมาขอซื้อ จนมีคนมารอสั่งจองกันตลอดทุกปี ได้รับความนิยมอย่างมาก ตอนนี้ผ่านมา 8 ปีแล้ว คอแลน เริ่มเก็บผลผลิตได้ 6 ปี ทำเงินให้ครอบครัวไปแล้วเกือบ 20,000 บาทแล้ว โดยจะจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 30 - 40 บาท ซึ่งในปีนี้อากาศร้อนและแล้งจัด ทำให้ คอแลน ติดลูกน้อยกว่าทุกปี คาดว่า น่าทำเงินได้ แม้ไม่มากนัก แต่ก็เป็นรายได้ที่งอกเงยขึ้นมา โดยไม่ต้องลงทุน
ด้านนายอุทัย หนูวุ่น เกษตรอำเภอครบุรี กล่าวว่า คอแลน เป็นผลไม้ประจำถิ่น เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับลิ้นจี่ ปัจจุบันหายากจึงได้รับความนิยมสูง ราคาจำหน่ายก็สูงตามไปด้วย อีกทั้ง แต่ละปีจะมีให้กินเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/u-X2u0ZB-H8
+ อ่านเพิ่มเติม