ปัญหาปวดใจเจ้าหนี้ "ลูกหนี้" ไม่คืนเงิน ตอนยืมพูดดี ตอนคืนไม่มี ทวงแล้วเงียบกริบ เป็นแบบนี้ ทำอย่างไรดี ?
อยากแนะนำตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพื่อเป็นแนวทางให้กับคนที่ให้คนอื่นยืมเงิน สิ่งแรกที่ควรทำ คือ "การทำสัญญา" เพราะการมีสัญญาระบุจำนวนเงิน กำหนดยอดและวันที่ชำระ มีลายเซ็นทั้งสองฝ่ายรวมถึงพยานชัดเจนแล้ว ทั้งหมดนี้จะเรียกว่า "การกู้ยืมเงินแบบมีสัญญา" ซึ่งหากมีการผิดข้อตกลง ผู้ให้ยืมสามารถนำสัญญาไปฟ้องร้องได้ โดยมีเงื่อนไขการกู้ยืมเงินกันขั้นต่ำ 2,000 บาท
แต่หาก "ไม่มีสัญญากู้ยืมเงิน" เจ้าหนี้ไม่ต้องกังวลไป เพราะสามารถเก็บหลักฐาน "ข้อความแช็ต" มาดำเนินการฟ้องร้องได้ ตาม พรบ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 โดยต้องมีเนื้อความที่บ่งบอกรายละเอียกการยืมเงินอย่างชัดเจน ได้แก่
- เช็ตบนแอปพลิเคชันที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ เช่น Facebook และ LINE
- รู้ชื่อบัญชีผู้สนทนา รู้ว่าใครยืม ใครเป็นผู้ให้ยืม
- ข้อความสนทนา จะยืมเท่าไหร่ จะคืนเมื่อไหร่
- หลักฐานการโอนเงิน และชำระหนี้
การฟ้องร้องกรณียืมเงินแล้วไม่คืนจะเข้าข่ายความผิดทางแพ่ง ตามมาตรา 213 โดยมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระกู้ยืมคืน แต่หากในกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแบบเป็นงวด ๆ กรณีนี้จะมีอายุความเพียง 5 ปี
ที่แย่ไปกว่านั้น กรณี "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ทวงก็แล้ว ฟ้องร้องก็แล้ว ศาลสั่งให้คืนก็แล้วยังไม่จ่าย เช่นนี้จะมีความผิดทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกข้อควรรู้ในการคิดดอกเบี้ยสำหรับ "ผู้ให้ยืม" โดยเงื่อนไขธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีสินเชื่อกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี และตามหลักกฎหมาย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5% ต่อปี ซึ่งทั้ง 2 ตัวเลขนี้ยังคงใช้ได้อยู่
สุดท้ายแล้ว "ใจเขาใจเรา" จะดีที่สุด นึกถึงวันที่เราต้องการเงินแล้วไปอ้อนวอนขอร้องเขา ก็ควรนำไปคืนเขาให้ตรงเวลาจนครบต้นครบดอกด้วย และหากเป็นคนสนิทชิดเชื้อกันแล้วไม่คืน ก็อาจทำให้ผิดใจกัน ความสัมพันธ์มีโอกาสแตกหักได้ในที่สุด
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35
และรับชมออนไลน์ ผ่าน YouTube: TERO Digital ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.35 น.