พูดถึงเรื่องช้ำ ๆ อย่าง "ดอกเบี้ย" มีทั้งแบบลดต้นลดดอก และดอกเบี้ยแบบคงที่ ทั้ง 2 อย่างแตกต่างกันอย่างไร เรามาทำความเข้าใจกัน
ดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่มีการขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน คงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ในช่วงเวลาที่กำหนด
ยกตัวอย่างกรณีที่เราผ่อนไปเรื่อย ๆ ทำให้เงินต้นลดลง หากเป็นการผ่อนแบบดอกเบี้ยคงที่แล้ว ก็ยังคงยึดตามอัตราดอกเบี้ยเดิม การคิดดอกเบี้ยแบบนี้นิยมใช้กับสินทรัพย์ที่มีความเสื่อม เช่น รถยนต์ และของบางประเภท
ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) หมายถึง ดอกเบี้ยที่คำนวณจากเงินต้นที่เหลือในทุก ๆ งวด ทำให้เมื่อมีการผ่อนชำระบางส่วนไปแล้ว ดอกเบี้ยที่ต้องชำระในงวดถัดไปก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินต้นที่เหลือ
ยกตัวอย่างกรณีกู้ซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% เมื่อเราผ่อนจ่ายไปเรื่อย ๆ ทำให้เงินต้นลดลงแล้ว จะต้องนำเงินต้นที่เหลือคูณกับอัตราดอกเบี้ย 6% นั่นหมายความว่าจะคำนวณตามจำนวนเงินต้น ณ วันนั้น เท่ากับเราจ่ายในส่วนของดอกเบี้ยที่น้อยลงเรื่อย ๆ นั่นเอง โดยการคิดดอกเบี้ยแบบนี้นิยมใช้กับ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อสหกรณ์
ในปัจจุบันการขอสินเชื่อหรือการผ่อนของหลาย ๆ อย่างได้มีการกำหนดรูปแบบของดอกเบี้ยเอาไว้แล้วจึงไม่สามารถเลือกรูปแบบดอกเบี้ยได้ แต่หากเลือกได้เราอาจต้องเปรียบเทียบดูว่ารูปแบบไหนที่จ่ายคุ้มกว่ากัน มีหลายกรณีที่น่าสนใจ ดังนี้
- อัตราดอกเบี้ยเท่ากัน แน่นอนว่าดอกเบี้ยประเภทลดต้นลดดอกย่อมดีกว่า เพราะยิ่งผ่อนเยอะผ่อนนาน ดอกเบี้ยก็จะยิ่งลดลง
- อัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ต้องมีการคำนวณเพื่อเปรียบเทียบโดยใช้สูตร ดอกเบี้ยคงที่ x 1.8 = ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก เช่น สถาบันการเงินหนึ่งเสนอดอกเบี้ยคงที่ 5% x 1.8 จะได้เท่ากับ ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก 9% แล้วนำมาเปรียบเทียบกับอีกสถาบันการเงินหนึ่ง ซึ่งอาจจะเสนอดอกเบี้ยลดต้นลดดอกว่าได้ต่ำกว่า 9% หรือเปล่า
- รูปแบบการจ่าย เช่น บางคนมีแผนการผ่อนชำระให้หมดเร็วกว่ากำหนด ผ่อนไม่กี่งวดก็พร้อมโปะพร้อมปิดบัญชีได้เลย กรณีนี้ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกก็อาจจะเหมาะมากกว่า
ทั้งนี้ การเลือกรูปแบบของดอกเบี้ยว่าแบบไหนจะคุ้มกว่าอาจจะต้องอิงกันหลายเรื่องทั้ง รูปแบบการผ่อน ระยะเวลาการชำระ และความสามารถในการผ่อนของผู้ขอสินเชื่อด้วย รวมถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ที่มีผลต่อการขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ยด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะอิงตามดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นเหมือนต้นทุนของฝั่งธนาคารพาณิชย์ที่มีการปรับขึ้นตามจังหวะ
อีกสิ่งที่ทำให้เราจับสัญญาณได้ คือ สภาวะเศรษฐกิจ เช่น หากเราได้ยินข่าวว่าช่วงนี้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่หากได้ข่าวว่าเกิดภาวะเงินฝืด แสดงว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงตามเช่นกัน
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35
และรับชมออนไลน์ ผ่าน YouTube: TERO Digital ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.35 น.