ในแวดวงเศรษฐกิจจะมีอยู่หนึ่งคำที่คนคุ้นเคย คือ "ภาวะเงินเฟ้อ" เงินเฟ้อขึ้นทำให้ของแพงขึ้น ปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย กลับกัน จะมีคำตรงข้ามของภาวะเงินเฟ้อ คือ "ภาวะเงินฝืด" แล้วเงินฝืดคืออะไร ? วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกัน
ทั้งสองคำ เงินเฟ้อ-เงินฝืด เป็นคำที่ตรงข้ามกันอยู่แล้ว เมื่อ "เงินเฟ้อ" คือ สภาวะที่ข้าวของแพงขึ้น เนื่องจากเงินในระบบมีมากเกินไป ดังนั้น "เงินฝืด" ก็คือ สภาวะที่ข้าวของถูกลง เนื่องจากเงินในระบบมีน้อยลง การจับจ่ายก็เลยฝืดเคืองไปหมด ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว โดนเงินเฟ้อประมาณ 2-3% ยังถือว่าดีเสียกว่าเงินฝืด เพราะยังเป็นเรื่องปกติ เรายังมีเงินจับจ่าย และเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ภาวะเงินฝืด ไม่ว่าใครก็ไม่อยากพบเจอ ภาครัฐจึงออกมาตรการมาคอยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย เพื่อเงินหมุนเวียนในระบบ เพราะหากเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นจริง ๆ ผลกระทบที่เห็นชัดคือการลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการต่าง ๆ มีรายได้น้อยลง เมื่อกิจการมีรายได้น้อย ก็จะกระทบไปยังลูกจ้างที่อาจโดนเลิกจ้างเนื่องจากบริษัทไม่มีกำลังจ่าย และกระทบไปเรื่อย ๆ เป็นห่วงโซ่อีก
การลงทุนในภาวะเงินฝืดยังคงทำได้ แต่อาจจะไม่มากนัก หากลงทุนแบบเซฟ ๆ และพื้นฐานที่สุด คือ การเก็บเงินสดไว้บางส่วน เพราะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ หากมีเงินสดไว้หมุนเวียน จะเป็นตัวช่วยเรื่องสภาพคล่องได้มาก
2. ตราสารหนี้ เพราะในช่วงเวลาเช่นนี้ธนาคารกลางจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ลดลง ส่งผลกระตบต่อราคาของตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดผลดีต่อผู้ที่ถือตราสารหนี้ไว้ก่อนหน้านี้โดยตรง
3. ธนบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้บริษัทเอกชน โดยอาจจะเลือกลงทุนในกลุ่มที่มีความมั่นคงสูงและได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สูง และมีอายุครบกำหนดในระยะยาวมากกว่าตราสารหนี้ในระยะสั้น เพราะหากเราถือมูลค่าดอกเบี้ยที่สูงในระยะยาวได้ จะทำให้สามารถเอาชนะสภาวะเงินฝืดในปัจจุบัน
4. ทองคำ เป็นอีกสินทรัพย์ทางเลือกในช่วงเงินฝืด แต่อาจจะต้องพิจารณาหลายปัจจัยทั้งความต้องการ เศรษฐกิจโลก ค่าเงิน และติดตามข่าวสารต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
เพิ่มเติมจากสิ่งที่สามารถลงทุนได้ ก็คือสิ่งที่ "ไม่แนะนำ" ให้ลงทุนในภาวะเงินฝืด ได้แก่ "อสังหาริมทรัพย์" เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง สวนทางกับสถานการณ์ที่ผู้คนไม่มีเงินหรือไม่อยากนำเงินออกมาใช้ ทำให้มีความเสี่ยงมาก แต่หากพิจารณาแล้วว่ากำลังอยู่ในช่วงรอยต่อเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว ก็อาจซื้อเพื่อทำกำไรในอนาคตได้
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35
และรับชมออนไลน์ ผ่าน YouTube: TERO Digital ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.35 น.