โหมโรงก่อนศึกเลือกตั้ง 66 วาระคนไทย พูดคุยกับ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ในหัวข้อ ใครคือ นายกฯ คนต่อไป ? วิเคราะห์สมการความเป็นไปได้ในการจัดขั้วรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้
วันที่ 6 เม.ย. 66 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ว่า ขอบคุณที่ช่อง 7HD ช่วยทำให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องการเมือง การเลือกตั้งของคนไทย เพราะได้เข้าถึงข้อมูลนโยบายของแต่ละพรรค มาประกอบการตัดสินใจมากขึ้น และการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่ามีความหลากหลายกว่าปี 2562 เป็นอย่างมาก
ในความคิดเห็นของอาจารย์เจษฎ์ มองว่าประชาชนยังไม่มองว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่จะให้ความสนใจที่กลุ่มพรรคการเมือง และนโยบายโดยรวมของแต่ละพรรค หากนโยบายของพรรคไหนถูกใจก็ประชาชน ก็จะได้รับคะแนนจำนวนมาก โดยในปกติแล้วตามหลักประชาธิปไตย พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคนั้นจะมีสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
การกำหนดนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะเน้นนโยบายประชานิยม เพื่อมัดใจประชาชน โดยที่ไม่ชี้แจงที่มาที่ไป หรือทำให้เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน นโยบายเหล่านี้มักจะถูกใจประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งคะแนนเสียงจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน หรือนโยบายกัญชาเสรี
สมการการจับขั้วของพรรคการเมือง จากการคาดเดาคะแนนของแบบสำรวจต่าง ๆ สมการแรก หากพรรคเพื่อไทยไม่แลนสไลด์ การจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคฝ่ายค้านเดิมได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ที่คาดว่าจะได้ สส.ประมาณ 290 คน ซึ่งจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ยังมีเสียง สว.ที่อาจจะไม่เลือกฝ่ายนี้เป็นนายกรัฐมนตรี สมการนี้อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ก็อาจทำให้สภาเดินหน้าไปต่อไม่ได้
สมการที่สองพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย ในสมการนี้อาจจะเป็นไปได้ถ้าหากทั้งสามพรรคคุยกันอย่างลงตัว และจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายเสรีนิยม ซึ่งสิ่งที่อาจทำให้สมการนี้เกิดขึ้นได้ เพราะพรรคพลังประชารัฐได้ปูทางไว้แล้วว่าต้องการก้าวข้ามความขัดแย้ง คาดว่าจะได้ สส.จำนวนเท่ากับสมการแรก แต่จะมีเสียงของ สว.ที่อาจจะสนับสนุนพลเอก ประวิตร
ถ้าเกิดขึ้นตามสมการที่สองจริง หากแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์เจษฎ์เชื่อว่าแฟนคลับเพื่อไทยอาจจะไม่ว่าอะไรมาก เพราะคนที่แฟนคลับเพื่อไทยนับถือจริง ๆ คือคุณทักษิณ ส่วนคุณแพรทองธาร คุณเศรษฐา และคุณชัยเกษม เปรียบเสมือนแค่ตัวแทนของคุณทักษิณ ซึ่งถ้าหากคุณทักษิณจะได้กลับบ้านและเป็นผลดีต่อการบริหารประเทศ อีกทั้งยังเป็นการก้าวข้ามความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี
สมการที่สามคือรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีจำนวน สส.ถึงเสียงข้างมาก ก็จะทำให้การเสนอกฎหมายต่าง ๆ ผ่านได้ยาก ไม่ต่างอะไรกับคนเป็นง่อย แต่ก็อาจจะสามารถทำได้ แต่รัฐบาลก็อาจจะไม่ได้อยู่จนครบวาระ
ดังนั้นอาจารย์เจษฎ์ จึงมองว่าสมการที่หนึ่งกับสมการที่สาม อาจจะสร้างปัญหาและความขัดแย้งได้ ดังนั้นสมการที่สองดูมีความเป็นไปได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าอาจจะขัดใจใครบางคน แต่ทุกพรรคในสมการจะได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องการ เพราะจะเป็นการก้าวข้ามความขัดแย้งทุกสิ่งทุกอย่างได้ และยังเป็นการป้องกันการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกครั้ง โดยหนทางของประเทศจะขึ้นอยู่กับการเลือกของประชาชน
ส่วนเรื่องนโยบายเงิน 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย อาจารย์เจษฎ์มองว่าต้องดูว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้ผู้ใดหรือไม่ จึงจะสามารถตีความได้ว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะแตกต่างกับนโยบายเงิน 600 บาท หรือ 1,000 บาท ที่ไม่ได้สัญญาว่าจะให้ หรือบอกว่าจะให้กับผู้ใด ซึ่งนโยบายเรื่องเงินทั้งหมดทุกพรรคการเมืองควรจะบอกว่าจะเอาเงินมาจากไหน และจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างไร
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35