เช้านี้ที่หมอชิต - ปิดเทอมช่วงฤดูร้อนแบบนี้ ผู้ปกครองต้องจับตาดูแลบุตรหลานกันให้ดี เพราะเด็ก ๆ มักชวนกันทำกิจกรรมคลายร้อนอย่างการเล่นน้ำบ้าง ก็เล่นตามสระว่ายน้ำบ้าง ก็เล่นตามอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ พลาดเกิดอุบัติเหตุจมน้ำทุกปี จากสถิติย้อนหลังช่วง 9 ปี พบมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต มากกว่า 7,000 ราย หลายหน่วยงานต้องหามาตรการป้องกันเหตุความสูญเสียซ้ำซาก
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าช่วงหน้าร้อนนี้ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการตกน้ำหรือจมน้ำ ในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี มากขึ้น โดยมักชวนกันเล่นน้ำตามลำพังขาดการดูแลจากผู้ปกครอง เพราะเป็นช่วงปิดเทอม ทั้งตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำที่ใช้ในเกษตรกรรม รวมถึงแหล่งน้ำที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ทะเล น้ำตก สวนน้ำ
ทราบหรือไม่ว่าช่วง 9 ปี ที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต รวมจำนวน 7,374 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 2 คน คิดเป็นอัตราอัตราเสียชีวิต 5.0-8.6 ต่อประชากรแสนคน หากย้อนไปช่วง 5 ปี คือปี 61 –65 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตช่วงปิดเทอมฤดูร้อน จำนวน 953 ราย โดย เดือนเมษายนพบจมน้ำมากที่สุด 65 ราย และนี่10 จังหวัดที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด อาทิ บุรีรัมย์, อุดรธานี, นครราชสีมา, สุรินทร์ โดย 7 ใน 10 จังหวัดอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ อายุ 0-4 ปี และอายุ 10-14 ปี เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหญิงถึง 2.2 เท่าตัว
แหล่งน้ำที่พบว่าเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ รองลงมาคือ เขื่อน,อ่างเก็บน้ำ ส่วนสาเหตุหลักเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด รองลงมาคือ พลัดตกลื่น ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงคือ ขาดผู้ปกครองดูแล
ทั้งนี้ ภาครัฐย้ำมาตรการป้องกันว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เล่นน้ำกันตามลำพัง หรือควรได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด รวมถึงแหล่งน้ำสถานที่ท่องเที่ยว ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต กำหนดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย เข้าถึงง่าย ติดป้ายแจ้งเตือนความลึก
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม