เช้านี้ที่หมอชิต - ขณะนี้ต้องบอกว่าวิกฤตจริง ๆ สำหรับผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ การใช้ชีวิตนอกบ้าน กลายเป็นเรื่องอันตรายถึงชีวิต และไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ ลองคิดถึงเด็ก ๆ ที่เกิดในยุคนี้ โดนโควิด-19 ไปกว่า 2 ปี ต้องขังตัวเองในบ้าน ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ หมดวิกฤตโรคระบาด มาเจอมลพิษหมอกควันแบบนี้ นี่คือชีวิตที่หายไปของเด็กรุ่นหนึ่ง หากเราไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้จบลงให้ได้ในเร็ววัน ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าเป็นปัญหาที่ประชาชนจะแก้เองได้ไหว เป็นโจทย์ทางนโยบายที่รัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่ง วันนี้เราจะมาทบทวนท่าทีและนโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ ต่อปัญหาฝุ่นควัน ก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง
แนวทางของท่านนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนยังคงเน้นที่การจัดการภายใน มีการขอความร่วมมือในการงดเผา และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดตามสถานการณ์ นโยบายระยะยาว ท่านพูดถึงการส่งเสริมรถไฟฟ้าเพื่อลดการสันดาป พลเอก ประยุทธ์ พูดเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ส่วนมาตรการล่าสุด ท่านสั่งการเพิ่มเติมให้ออกปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อทำฝนเทียมใน 5 จังหวัดทางภาคเหนือที่วิกฤตหนัก
ไปที่พรรคภูมิใจไทย คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าได้เตรียมในเรื่องของการรักษาพยาบาลและดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ มีการสั่งเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องของโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนนโยบายที่ดำเนินการไปแล้วคือ ผลักดันให้มีรถเมล์และรถไฟฟ้าอีวี 1,200 กว่าคัน และจะผลักดันให้มีมากขึ้นโดยเร็ว
ทางฝั่งฝ่ายค้าน เมื่อวานนี้มีแถลงการณ์ออกมาจาก คุณปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย โดยมีข้อเรียกร้องไปถึง พลเอก ประยุทธ์ ด้วย
ประเด็นสำคัญของ คุณปลอดประสพ คือเรียกร้องให้มีการเจรจากับผู้นำประเทศเพื่อนบ้านโดยด่วน นอกจากนี้ คือข้อเสนอต่อกระทรวงต่าง ๆ เช่น สาธารณสุข ต้องแจกหน้ากากอนามัย กระทรวงมหาดไทย ต้องสั่งหยุดงาน ปิดโรงเรียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเด็ดขาด ใช้อำนาจตามกฎหมายกับบริษัทต่าง ๆ เพื่อคุยถึงข้อตกลงที่มาที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือความเสียหายต่อประเทศ เป็นต้น
ส่วนก้าวไกล ไปดูคุณช่อ พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ไปแอ่วเหนือช่วงนี้มาพอดี เป็นอย่างไรบ้าง
มาดูที่นโยบายแก้ฝุ่นพิษ PM2.5 แบบจริงจังของก้าวไกลบ้าง มีข้อเสนอออกมาจาก คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่าขอเน้นแก้ปัญหาที่ต้นตอของเรื่องนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นั่นคือธุรกิจการเกษตรที่ทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบ ซึ่งคุณพิธาระบุว่า จุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน แดงเถือกแบบนี้ สัมพันธ์กับจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10.6 ล้านไร่ ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาใน เมียนมา ลาว และไทย ซึ่งก็เป็นกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาถูกจากเพื่อนบ้าน เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ และก็เป็นที่มาของฝุ่น PM2.5 นั่นเอง
แนวทางแก้ปัญหาของก้าวไกล ประกาศเปรี้ยงเลยว่า ถ้าเป็นรัฐบาล จะประกาศทันทีว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ผ่านด่านการค้าในภาคเหนือ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไทย ตัดวงจรการเผา ลบจุดแดงบนแผนที่ทางอากาศ
รวมถึงต้องมีกฎหมายให้ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง และประชาชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับ กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน หรือ Transboundary Haze Pollution Act ของประเทศสิงคโปร์
สิงค์โปร์เคยเจอหมอกควันข้ามพรมแดนแบบนี้จากกรณีปาล์มอินโดนีเซีย ซึ่งก็ใช้ทั้งการเจรจาระหว่างประเทศอย่างจริงจังและมาตรการทางกฎหมาย จึงทำให้ปัญหาหมอกควันภาคใต้หายไปหลายปีแล้ว
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม